Just another WordPress.com site

ล่าสุด

รีวิวหนังญี่ปุ่น ‘Lesson in Murder’


J Film Fest ตั้งใจไปดูเรื่องนี้เลย ‘Lesson in Murder’

ชอบตั้งแต่คำแปลชื่อเรื่องภาษาไทยแล้ว “บทเรียนที่มีคุณฆ่า”

แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย สมศักดิ์ศรี Psycho Thriller ญี่ปุ่น

Lesson in Murder เป็นเรื่องราวว่าด้วยฆาตกรต่อเนื่อง “ไฮมุระ” เจ้าของร้านเบเกอรีที่ถูกจับกุมหลังก่อเหตุคร่าชีวิตเด็กวัยรุ่นชายหญิงไป 23 คน ระหว่างการสืบสวนคดีในชั้นศาล “มาซายะ” อดีตลูกค้าประจำของไฮมูระที่บัดนี้โตเป็นหนุ่มได้รับจดหมายเชิญเยี่ยมนักโทษรอประหาร และได้รับคำร้องขอที่แปลกประหลาด เมื่อไฮมูระพยายามหว่านล้อมว่า “เหยื่อรายที่ 9 ไม่ใช่ฝีมือเขา ฆาตกรตัวจริงกำลังลอยนวล” และต้องการให้มาซะยะช่วยเปิดเผยความจริงให้โลกรู้ นั่นทำให้เขาได้ไปพบกับทนายจำเลย และเข้าไปพัวพันกับคดีที่เต็มไปด้วยปมปริศนา…

– ดาราเจ้าบทบาท Sadao Abe รับบทฆาตกรโรคจิต ‘ไฮมูระ’ และมอบการแสดงที่น่าสะพรึง ฉากหน้าไฮมูระมีอาชีพเป็นคนทำขนม ท่าทางใจดี เป็นมิตร เป็นที่รักของลูกค้า เพื่อนบ้าน และเด็ก ๆ แต่ฉากหลังเขามีงานอดิเรกสุดวิปริตคือการทรมานและฆ่าคน

– ไฮมูระเป็นฆาตกรที่มีแบบแผน ชอบเลือกเหยื่อหนุ่มสาววัย 16-18 ปี ที่หน้าตาดี เรียนดี ใช้ชีวิตตามกรอบ และทุกรายจะต้องโดนถอดเล็บ

– แต่มีเหยื่อรายหนึ่ง ผู้เสียชีวิตรายที่ 9 เป็นสาวออฟฟิศที่อายุเกินเกณฑ์ดังกล่าวไปหลายปี และลักษณะการเสียชีวิตแตกต่างจากเหยื่อรายอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการสืบคดีโดยทนายฝึกหัดอย่าง ‘มาซายะ’ เพื่อตามหาฆาตกรอีกรายที่กำลังลอยนวล (ตามที่ไฮมูระกล่าวอ้าง)

– หนังจะเดินเรื่องแบบช้า ๆ คลี่ปมไปทีละเปลาะ ผ่านการพบกันในห้องเยี่ยมนักโทษของไฮมูระ-มาซายะ ทุกตัวละครที่ปรากฏมีความเชื่อมโยงกันอย่างลับ ๆ ซึ่งหนังจะค่อย ๆ เฉลยปมความสัมพันธ์ ชวนให้เราคิดตามหลักฐานที่ค่อย ๆ แง้มออกมาทีละจุดสองจุด ในขณะเดียวกันก็หลอกล่อคนดูไปด้วย

– ชอบฉากพบกันในห้องเยี่ยมนักโทษ ที่ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Cure ของ Kiyoshi Kurosawa มันเป็นฉากที่ทรงพลังและมีความ Surreal ดี ในห้องทึบที่มีกระจกกั้นกลาง เราได้ชม Sadao Abe (ไฮมูระ) ถ่ายทอดความสุดจิตผ่านสีหน้าแววตา แสดงแบบน้อยแต่มาก และพลังงานรับส่งของเขากับ Kenshi Okada (มาซายะ) ค่อย ๆ ทวีความเข้มข้นขึ้น พร้อมกับมวลบรรยากาศในห้องที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในแต่ละฉาก ดูหลุดพ้นจากความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ และสัมผัสได้ถึงการครอบงำ

– หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยนักแสดงหน้าใหม่ เช่น น้องที่รับบทแฟนพระเอก Yu Miyazaki เพิ่งจะมีผลงานแสดงไม่กี่เรื่อง แต่ก็มีรุ่นใหญ่ ดาวค้างฟ้าอย่าง Miho Nakayama มารับบทเป็นแม่พระเอกด้วย

– หนังเรื่องนี้ดัดแปลงจากนิยายของ Riu Kushiki ช่วงแรกมีฉากทรมานหลอนสุดหวีดให้เห็นบ้าง แต่โดยรวมแล้วหนังขับเคลื่อนด้วยดราม่ามากกว่า หนังมันวิพากษ์ปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว การ Abuse ทั้งในเชิงร่างกายหรือจิตใจมันทั้งสร้างบาดแผลและทิ้งปมในใจ โดยตัวฆาตกรอย่างไฮมูระนั้นมักจะเล่นกับช่องโหว่ในใจคน เลือกเหยื่อเป็นเด็กวัยรุ่นที่ขาดการยอมรับจากพ่อแม่ และค่อย ๆ ครอบงำเด็กเหล่านั้นด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า ใช้คำพูดดี ๆ ให้ขนมดี ๆ และแสดงความเข้าใจ ในขณะเดียวกัน ตัวฆาตกรอย่างไฮมูระเองก็มีปมในใจ เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงมาก่อน เป็นผลผลิตจากครอบครัวที่แตกสลาย (และเลือกที่จะมาเอาคืนกับสังคมผ่านเด็ก ๆ ที่เป็นเหมือนผ้าขาว)

#หนังญี่ปุ่น #JapanFilmFestival2023

รีวิวหนัง ‘Blue Again’


Blue Again ถ้าไม่นับเรื่องที่หนังยาวมาก (3 ชม.) จัดเป็นหนังไทยที่ถ่ายทอดเรื่องความสัมพันธ์ได้ดีที่สุดเรื่องนึงเลย

หนังมีพล็อตหลักคือ “เอ” เด็กสาวลูกครึ่งจากสกลนคร ที่บ้า่นมีกิจการย้อมผ้าครามขนาดย่อม และเข้ามาเรียนแฟชั่นดีไซน์ในกรุงเทพ ได้พบกับเพื่อนใหม่ “แพร” เธอต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอดทั้งในแง่การเรียน การเข้าสังคม หรือการทำธุรกิจแบรนด์ผ้าครามของตัวเอง และเต็มไปด้วยพล็อตรอง เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว การล่มสลายของสังคมชนบท BFF หนุ่ม “สุเมธ” ที่กำลังเผชิญวิกฤตศรัทธา

หนังเรื่องนี้มันเต็มไปด้วย “คนนอก” ในรั้วมหา’ลัย คาแร็กเตอร์เอ (นางเอก) หรือหนุ่มคอสเพลย์ “กันต์” เป็นคนประเภทเพื่อนไม่คบ (อย่างกันต์นี่ตามเรื่องถือว่าเกิดเร็วไป 5 ปี ถ้าเป็นตอนนี้เขาจะคูลมาก) หรือแม่ของนางเอกที่เคยมีสามีเป็นฝรั่งแล้วถูกทิ้ง ก็มีปมในใจ ถูกคนในหมู่บ้านมองไม่ดี และใช้ชีวิตอย่างหมดหวัง (ชาวชมรมโยกย้ายรุ่นพี่ 555) สุเมธเติบโตในครอบครัวคริสต์ พ่อแม่เคร่งศาสนา แต่ดั๊นอยากไปบวชพุทธให้ยาย

– จริง ๆ รั้วมหา’ลัยนี่ก็คงเป็นซีนาริโอที่จำลองภาพสังคมไทยได้ดี หลายฉากถ่ายทอดได้โดนใจดี ก่อนจะเข้าสู่ยุค 2020 ที่ชาวเน็ตเริ่มถกเถียงกันถึงบุคลิกต่าง ๆ เช่น Introvert หรือบุคลิก 16 แบบของ MBTI สังคมไทยนี่มี low tolerance หรือการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายต่ำมาก โคตรที่สุดแห่งความยัดเยียด และโคตรแห่งการ Bully ไอ้ฉากรับน้องที่ดูในหนังช่วงแรกนี่เห็นแล้วขึ้นเลย แล้วยุคนั้นพวกคนที่ก้มหัวให้ทำตามระบบ(ที่ไม่มีเหตุผล)มันมักจะได้ดีกันจริง ๆ ส่วนคนที่แข็งขืนต่อต้าน(แม้จะด้วยเหตุผล) ก็จะถูกกีดกันออกไป ไม่รับเข้ารุ่นบ้าง ไม่คบค้าสมาคมบ้าง อะไรบ้าง ถามว่าแล้วพอเรียนจบมันมีผลมั้ย? ก็อาจไม่มากแต่ก็มีแหละ ทุกวันนี้มันก็ยังมีไอ้ระบบ Seniority มีการโปรสถาบัน ประเทศนี้เป็นที่ที่ต่อให้เก่งแค่ไหนแต่ถ้าคุณไม่มี connection เลย คุณจะรุ่งโคตรยาก (ในหนังก็สะท้อนผ่านตัวละคร “แพร” ที่อยู่เป็น ก็จะค่อย ๆ ถูกระบบกลืนเข้าไป)

อิงชีวิตจริง คือ ตอนเข้ามหา’ลัยใหม่ ๆ จะไม่ค่อยรู้สึกอะไรหรอก แต่พออยู่ไปสักพักเราจะค่อย ๆ เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมมันถ่างขึ้นเรื่อย ๆ เด็กที่มาจากชนบท หรือฐานะทางบ้านยากจน คุณก็จะค่อย ๆ ถูกกีดกันออกไป หรือไม่ก็ can’t afford เข้าสังคมกับเพื่อนที่มีฐานะไม่ได้อยู่ดี

– ในฐานะคนคาทอลิก เคยได้ยินเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครมานาน แล้วหนังเรื่องนี้ครึ่งเรื่องใช้สกลนครเป็นแบ็คกราวด์ พิธีแห่ดาวคือสวยมาก เห็นแล้วอยากไปเที่ยวเลย (ฟีลชุมชนคริสต์ในหนังเรื่องนี้เห็นแล้วแอบนึกถึงหนัง “ร่างทรง” ที่ฉายเมื่อปีก่อน)

– สิ่งที่ชอบอีกอย่างในหนังเรื่องนี้ คือ การถ่ายทอดธุรกิจท้องถิ่น “ผ้าคราม” ซึ่งก็ฟีลเดียวกับที่คนกรุงหรืออินฟูลเอนเซอร์ชนชั้นกลางชอบพูดถึงการปลูกข้าวหรือชีวิตชนบทแบบ Romanticize แต่ในหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดแบบ #ช็อตฟีล คือค่อนข้าง Realistic มันพูดถึงคน 3 เจนที่อยู่ในวัฎจักรนั้น เจนแรก (รุ่นปู่ยาตายาย) แก่จนทำไม่ไหวแล้ว ส่วนเจนที่สอง (รุ่นพ่อแม่) กายยังไหว แต่หมดใจ เพราะกัดก้อนเกลือกินมานาน ส่วนเจนสาม (รุ่นลูก) มีไฟ ใจสู้ ความรู้มี แต่มันไม่มีทรัพยากรหรือการสนับสนุน (ถ้าใช้ศัพท์หรูสมัยนี้ก็คือไม่มี Ecosystem รองรับ) ตัวละครอย่างเอ หรือสุเมธ คือเป็นคนมีความฝัน แต่ที่บ้านเกิดมันไม่มีอาชีพหรือสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้เขาสานฝันได้

[[ #SPOIL ]] [[ #SPOIL ]] [[ #SPOIL ]]

– สิ่งที่จะเพื่อนหรืออาจารย์ตัดสินเอเรื่องการทำผ้าคราม ซึ่งหนังก็ได้อธิบายให้คนดูอย่างเราเข้าใจ (แต่ถ้าดูในหนังจะเหมือนว่าคนรอบข้างแทบไม่อิน ไม่เก็ทกันเลย) จะว่าไปมันก็สามารถนำมาเป็น Metaphor ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้นะ อย่างในหนังเอพยายามจะอธิบายว่าที่เร่งไม่ได้ เพราะการทำผ้าครามมันต้องใช้ความพิถีพิถัน ไหนจะเรื่องผลกระทบของฤดูกาลต่อการเพาะปลูก (ซึ่งประเด็นนี้นี่โคตรร่วมสมัยเลยนะ Climate Change) ไปจนถึงการล่มสลายของสังคมชนบท ในเรื่องเราจะเห็นว่าแม่เอถอดใจแล้ว นางก็จะทำแบบแกน ๆ ที่ทางก็เหมือนจะทยอยขายไปทีละแปลงสองแปลง #ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนที่เราเห็นวิวาทะตามเน็ต ที่มีคนวิจารณ์ชาวนา เกษตรกรว่าขี้เกียจบ้าง ไม่ปรับตัวบ้าง บลา ๆ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไปสนใจใยดีว่าพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไร หรือผ่านอะไรมาบ้าง ก็ตัดสินกันไป (เคสล่าสุดนึกถึงที่พ่อค้าแม่ค้าโดนหลอกขายฝันในงานเทศกาลดนตรีเขา ๆ ใหญ่ ๆ นั่นอ่ะ พวกคนวิจารณ์นี่เก่งกันจริ๊ง know how = ศูนย์ แต่ educate = เกินร้อย 555)

– แต่หนังมันก็แฟร์ ๆ ดีนะ คือหนังมันก็ไม่ได้ชูให้นางเอกเป็นแม่พระ หรือถูกกระทำฝ่ายเดียว ตัวนางเอก (เอ) เองก็มีนิสัยเสีย #สาวทรงแบด 555 คือนางเป็นคนแรง ๆ เอาแต่ใจตัวเอง มีปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งก็ทำให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทอย่างแพร ชอบมากที่มีคนอุปมาถึงนางเอกว่า “เอเป็นคนที่เข้าใจครามเป็นอย่างดี แต่กลับไม่เข้าใจผู้คนรอบข้าง”

รีวิวหนัง Decision to Leave


Decision to Leave ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ Park Chan-wook ที่ได้นางเอกจีน Tang Wei มารับบทนำ

ไปดูเรื่องนี้เพราะชอบ Tang Wei มาตั้งแต่ Lust, Caution (จำได้ว่านางเคยโดนทางการจีนแบนแล้วก็เงียบหายไปพักใหญ่) และชอบผลงานหนังของ Park เรื่องสุดท้ายที่ดูคือ Handmaiden ซึ่งก็ฉายเมื่อ 6 ปีมาแล้ว

Park ทำหนังเรื่องนี้ได้มีเสน่ห์มาก ๆ จนเขาได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีคานส์เมื่อปีที่แล้ว ถ้าดูจากหน้าหนังนี่มัน Thriller หรือหนังแนวสืบสวนชัด ๆ ว่าด้วยเรื่องราวของแฮจุน นายตำรวจที่กำลังทำคดีสืบหาสาเหตุการตายของเจ้าหน้าที่ ตม. กีโดซู ผู้ชื่นชอบการปีนเขา แต่จุดหักเหเกิดขึ้นเมื่อเขาได้ใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัย โซเร ภรรยาชาวจีนของผู้ตาย และค่อย ๆ ถลำลึกเข้าสู่ความสัมพันธ์ต้องห้าม

#ความประทับใจ
– ชอบครึ่งแรกมาก เป็นหนังของ Park ที่ดูแล้วลื่นไหลดี เนื้อเรื่องเดินหน้าตลอด มีการลำดับภาพและการนำเสนอมุมมองที่โดดเด่น โดยสามารถนำเสนอ 2 เหตุการณ์ควบคู่กันไปด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่เฉียบขาด

– มันเป็นหนัง Romance Thriller สไตล์พาร์ค ๆ ด้วยความที่เรื่องรักต้องห้ามดันมาเกิดขึ้นในระหว่างการทำคดีฆาตกรรม หนังมันเลยมีหลายอารมณ์มาก มีทั้งฉาก Thriller ขึงขัง ฉาก Action มัน ๆ จากการไล่ล่าของตำรวจกับผู้ร้าย ฉาก Drama ซึ้ง ๆ ไลน์พูดคม ๆ และ Comedy โบ๊ะบ๊ะในบางช่วง และที่ขาดไม่ได้ก็คือฉาก Romantic รักสามเส้า

– หนังมันพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ต้องห้าม ระหว่าง “ตำรวจ” กับ “ผู้ต้องหา” ที่พอล้ำเส้นแล้วมันก็จะเกิดทั้งคำถามทางจริยธรรม และความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ (Tension)

– ชอบวิธีการนำเสนอผ่านมุมกล้อง ที่ใช้ลูกเล่นราวกับว่าคนดูได้มองเหตุการณ์ผ่านสายตาตัวเอง มีการสลับมุมมองระหว่างบุคคลที่ 1 / 2 / 3 ตลอดทั้งเรื่อง หนังเรื่องนี้จะเน้น #การจับจ้อง ซึ่งสะท้อนบุคลิกของพระเอกที่เป็นตำรวจสืบสวน เป็นคนช่างสังเกต ละเอียดลออ ฉากที่แฮจุนตามสะกดรอยโซเรนั้นเล่นกับจินตนาการคนดู ให้ความรู้สึกราวกับว่าเขากำลังใช้ชีวิต (Moment) อยู่ข้างเธอจริง ๆ ในขณะเดียวกันหลาย ๆ ฉากก็จะนำเสนอการมองเห็นผ่านสื่อ/สิ่งต่าง ๆ เช่น หน้าจอทีวี สมาร์ทโฟน ไปจนถึงตาปลา (fish eye view 555)

– ลูกเล่นการมองต่าง ๆ ที่ว่ามา มันสะท้อนถึง #การตัดสินคนด้วยสายตา ซึ่งหนังของ Park จะค่อย ๆ เฉลยปมตัวละคร ถ่ายทอดธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ หนังเล่นกับ concept การแสวงหาความจริง ในเบื้องต้นมนุษย์เรามักจะตัดสินบุคคลจากภาพที่ตาเห็นหรือข้อมูลที่รับรู้มา โดยที่เราอาจไม่ทราบแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่ หรือสาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจ

รวมดาวสาวสวยใน Alice In Borderland 2


สาว 1 เดียวในแก๊งคิวมะ คิงดอกจิก (K ♣)
Alisa Urahama รับบท Uta Kisaragi

สวยคมเข้มแบบนี้ ลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกา-อิตาลี หาประวัติคร่าว ๆ ผลงานของน้องจะหนักไปสายนางแบบมากกว่า
เพิ่งเล่นหนังกับซีรี่ส์ไปไม่กี่เรื่อง งานล่าสุดก็คือ Alice in Borderland 2

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =

สาวคอสเพลย์จอมบงการใน EP 3

Urumi Aramaki รับบทโดย Aina Yamada

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =

Honami Sato มีบทเล็ก ๆ ใน Alice In Borderland 2 (AIB2)

(บท Kotoko ในด่านแจ็คโพแดง ๋J ♥)

ดาราสาวหน้าแมวจริง ๆ แล้วเป็นนักดนตรีมาก่อน

โดยใช้ชื่อว่า Hona Ikoka เป็นมือกลองของวง Gesu no Kiwami Otome

และผลงานสร้างชื่อของเธอก็คือ TV Movie แนว drama / road movie เรื่อง Ride or Die ที่เล่นคู่กับ Kiko และมีซีรี่ส์เล่นอยู่เรื่อย ๆ จนมาถึง AIB2

ล่าสุดเธอได้รับเลือกเป็น 1 ในพรีเซ็นเตอร์ของเบียร์ Sapporo ด้วย

ตัวอย่างฝีมือกลองของ Honami

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =

ควีนโพดำ ‘ริสะ’ บอสใน EP5 คู่ปรับที่ทำให้อุซางิสะบักสะบอม

ผู้ที่มารับบทนี้ คือ ‘จิฮิโระ’ (Chihiro Yamamoto) ราชินีนักบู๊วัย 26 ปี

ดีกรีเธอไม่ธรรมดา ก่อนมาแสดงใน AIB2 เธอมักปรากฏในหนังแนว Live Action เช่น Ultraman (Ultraman Geed) และ Kamen Rider ไปจนถึงหนังแนวนินจาซามูไรทั้งหลาย

ก่อนจะผันตัวเข้าสู่วงการบันเทิง จิฮิโระเคยเป็นนักกีฬาวูซูทีมชาติญี่ปุ่น (ระดับเยาวชน) มาก่อน โดยเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณแม่ที่คลั่งไคล้หนังกังฟูจากฮ่องกง และเริ่มเรียนมวยไท้เก๊กอย่างจริงจังตั้งแต่ชั้นประถม จิฮิโระเคยเป็นแชมป์โลกรายการ JOC 3 สมัยซ้อนในระหว่างปี 2010 – 2012 ก่อนจะลาสังเวียนวูซู

ฟอล IG น้องจิฮิโระ >> https://www.instagram.com/chihirooyamamotoo/

ชมลีลาศิลปะการต่อสู้ของน้อง

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =

สาวงามคนสุดท้าย Last Boss จอมปั่นประสาท

ควีนโพแดง ‘มิรา’

รับบทโดย ‘ริซา นากะ’ (Riisa Naka)

ริซาวัย 33 ปี เป็นลูกเสี้ยวสวีดิช ชื่อของเธอถูกตั้งตาม ‘โมนาลิซา’ ภาพวาดอมตะที่คุณปู่ของเธอชื่นชอบ

ริซาโด่งดังขึ้นมาในยุค 2000 เธอได้รับรางวัลนักแสดงดาวรุ่งในปี 2009 จากซีรี่ส์ 81 Diver ที่เธอแสดงเป็น ‘มิ้ล’ เซียนหมากรุกสาว (ริซาในชุดเมดหนุบหนับกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของแฟน ๆ)

ในปี 2010 ริซาได้รับบทนำใน Live Action ที่ดัดแปลงจากการ์ตูนดังถึง 2 เรื่อง ได้แก่ Yankee-kun to Megane-chan และ The Girl Who Leapt Through Time

จริง ๆ เราว่าริซาน่ารักนะ แต่นางชอบทำตัวไม่สวย 555

ถ้าใครไปฟอล IG นาง (riisa1018naka) จะรู้ว่านางเป็นแฟชันนิสต้าตัวแม่ เปรี้ยวเข็ดฟัน นอกจากนี้เธอยังเป็น Youtuber ตัวยง (@nakariisadesu) จัดว่าเป็นคนมีไลฟ์สไตล์จัดจ้านคนหนึ่ง

ในบทสัมภาษณ์ ริซากล่าวถึงคาแร็กเตอร์ ‘มิรา’ ไว้ว่า…

“มิราเป็นตัวละครที่ดูลึกลับตั้งแต่ปรากฏตัวในซีซันแรก และมันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นในซีซัน 2 น้ำเสียงและท่าทางของเธอราวกับมนุษย์แอนดรอย และเธอใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อปั่นหัวคนอื่น ๆ ที่อยู่ในโลกของเกม”

ถ้าใครที่อ่านมังงะด้วยจะรู้ว่า บทของมิราในซีรีส์มีการปรับเปลี่ยนให้แตกต่าง ซึ่งริซาแสดงทัศนะว่า…

“ผู้กำกับ (ชินสุเกะ ซาโต) อยากให้การดวลกันระหว่างอาริสึกับมิราเป็น Fair Game และเธอเป็นตัวละครสำคัญด้วย การให้คาแร็กเตอร์นี้แสดงอำนาจของเธอผ่านวาทศิลป์และขับเคี่ยวกันด้วยเกมจิตวิทยา(มากกว่าการใช้ตัวช่วย) จะทำให้ฉากตัดสินทรงพลังยิ่งขึ้น”

ริซ่าทิ้งท้ายด้วยมุมมองต่อ J-Culture (วัฒนธรรมญี่ปุ่น) ว่า…

“ฉันไปเที่ยวต่างประเทศบ่อย และฉันรู้สึกทึ่งมากกับกระแสนิยมของมังงะและอะนิเมของญี่ปุ่นในต่างแดน มันทำให้ผู้คนได้เปิดรับมุมมองใหม่ ๆ และอยากมาเที่ยวญี่ปุ่น มังงะและอะนิเมมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งซีรีส์ที่ฉันมีส่วนร่วมอย่าง Alice ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่จะสร้างหมุดหมายใหม่ และทำให้ผู้ชมทั่วโลกได้ชื่นชมวัฒนธรรมญี่ปุ่นในแง่มุมใหม่ ๆ”

Yuri Tsunematsu กับความท้าทายบทใหม่ใน Alice in Borderland


#คุยซีรี่ส์

อาคาเนะ เฮยะ’ สาวนักแม่นธนู เป็นอีกหนึ่งตัวตึงจาก Alice in Borderland 2 ที่กลายเป็นขวัญใจแฟน ๆ ด้วยคาแร็กเตอร์ที่น่าจดจำของสาวนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา แถมมีมุมเซ็กซี่ขี้เล่น ลีลาบู๊ดุเดือดที่ตัดกับใบหน้าสวยใสของเธอทำให้นึกถึง Gogo Yubari จาก Kill Bill

หลังการพลิกบทบาทรับแสดงซีรี่ส์สุดหวือหวาอย่าง The Naked Director 2 ก็ดูเหมือนว่าเส้นทางนักแสดงของ ‘ยูริ สึเนมัตสึ’ (Yuri Tsunematsu) จะเป็นกราฟขาขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2022 ยูริได้รับบทนำบนจอเงินครั้งแรก ในหนังแนวสยองขวัญเรื่อง Kisaragi Station และยังได้ร่วมแสดงในซีรี่ส์แนวการแพทย์เรื่อง The Travel Nurse ที่ทำเรตติ้งถล่มทลายทางช่อง TV Asahi และผลงานล่าสุดที่กำลังอยู่ในกระแสก็คือ Alice in Borderland 2 (AIB2)

ในวัย 24 ปี ยูริผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการบันเทิงมากว่า 17 ปี เธอกล่าวถึงประสบการณ์การถ่ายทำ AIB2 ว่ามันเป็นงานที่ต้องใช้ความอุตสาหะ ซีรี่ส์แนวแอ็คชั่นเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานกว่าซีรี่ส์ทั่วไปสองเท่า ยูริต้องใช้เวลาขลุกอยู่กับมันครึ่งปี เฉพาะการถ่ายฉากบู๊ของคู่หูสุดระห่ำ ‘อาคาเนะ & อะกุนิ’ ที่ปรากฏบนจอเพียง 10 นาทีนั้น ต้องใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 สัปดาห์ครึ่ง! ยูริเผยว่า “เราถ่ายทำฉากนี้ในช่วงหน้าหนาว แต่พวกเราแต่งตัวกันบางมาก ฉันสวมเสื้อยืดแขนกุดกระโปรงสั้น พอผู้กำกับสั่งแอ็คชั่นปุ๊บ ทุกคนใส่สุด อะดรีนาลีนพุ่งพล่าน แต่พอสั่งคัทเท่านั้นแหละ พวกเรายืนตัวสั่นและบ่นอุบว่า หนาวจัง!! (หัวเราะ)”

ยูริกล่าวถึงเพื่อนนักแสดงใน AIB2 ไว้ว่า “คุณยามาซากิ (อารึสึ) เป็นมิตรมาก ระหว่างถ่ายทำเขากำลังติดซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง Itaewon Class และแนะนำให้ทีมงานทุกคนดู ส่วนคุณอาโอยางิ (อะกุนิ) นั้นฉันเคยร่วมงานกับเขามาก่อน แต่นี่เป็นเรื่องแรกที่เราได้มีซีนร่วมกันแบบจริงจัง เราพยายามหาเรื่องคุยกันสัพเพเหระ อย่างเช่นเขาถามฉันว่าเวลาว่างทำอะไร ฉันบอกว่าตอนนี้กำลังเล่นเกม Pokémon GO อยู่ และเขาก็ตอบว่า ‘งั้นฉันเล่นด้วยสิ’ (หัวเราะ) เขาจะชวนคุยเรื่องเกมเช่นเมื่อวานเธอจับตัวไหนได้บ้าง ไปตีมอนที่ยิมนั้นหรือยัง”

สาวยูริ ชอบเลี้ยงแมว ชอบซอสพอนซึ และชอบเย็บปักถักร้อย เธอชอบไปร้านเสื้อมือสอง หาซื้อเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด และตอนนี้เธอมีงานอดิเรกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากบทความครั้งก่อน เรารู้มาว่าเธอชอบเล่นวิดีโอเกม หัดเล่นสเกตบอร์ด ล่าสุด เธอกำลังสนุกกับการนำตัวต่อเลโก้มาทำเป็นของตกแต่งในบ้าน และในยามว่างเว้นจากการถ่ายทำ ยูริชอบท่องเที่ยวด้วยการเดินเท้า และนั่งรถประจำทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวหรือบ่อน้ำพุร้อน

ยูริชอบดูซีรี่ส์ต่างประเทศ โดยเฉพาะแนวสืบสวนอย่าง Bones และ Criminal Minds รวมทั้งซีรี่ส์ของ Netflix อย่าง Stranger Things และ Wednesday

ยูริที่เริ่มอาชีพการแสดงตั้งแต่ 9 ขวบรู้สึกดีใจที่เลือกเส้นทางนี้ เพราะชอบทำงานสร้างสรรค์ และมันเปิดโอกาสให้เธอได้แสดงออก เป็นตัวของตัวเอง สำหรับเคล็ดลับด้านการแสดง ยูริกล่าวว่า การแสดงที่ดีต้องกลั่นออกมาจากข้างใน มันไม่ใช่แค่การสวมบทบาท แต่เป็นการทำความเข้าใจตัวละครนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง

IG ของ Yuri >> https://www.instagram.com/yuri_tune/

#AliceInBorderland2#AkaneHeiya#ซีรี่ส์ญี่ปุ่น

รีวิวดูซีรีส์สยองขวัญ AHS แบบมาราธอน


เกลียดการป้ายยาที่สุด!

เพราะหลงเชื่อ ลองดู American Horror Story
ตอนนี้ก็ดูจบ ss1 ไปเรียบร้อยจ้า
โคตรสนุก 55555ดูแล้วมันนึกถึงซีรี่ส์แนวลึกลับสมัยก่อนอ่ะ

ที่เจ๋งคือใน Murder House มันเต็มไปด้วยปมความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ นับสิบ และมีการอธิบายเกี่ยวกับตัวตนของผี/วิญญาณ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘ผี’ ได้น่าสนใจดี (ใน AHS บ้านอาถรรพ์แห่งนี้กลายเป็นที่สิงสู่ของคนตายโหงตายเฮี้ยน จนก่อเกิดพลังอำนาจที่จะล่อลวง ฉุดคร่าลูกบ้านรายใหม่ ๆ มาร่วมเป็นสมาชิก โดย “ผีเรือน” มีทั้งผีดีและผีร้าย สามารถปรากฏกายมีปฏิสัมพันธ์กับ “คนเป็น” ได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่หลอกหยอกเอิน มีสัมพันธ์สวาท ไปจนถึงฆาตกรรม คนที่มาตายในบ้านหลังนี้ก็จะกลายเป็นวิญญาณสิงสู่ สัมผัสได้ แต่ไม่สามารถหลุดพ้นไปสู่ที่อื่นได้)

ครอบครัว Harmon โคตรน่าสงสาร ชอบน้อง Violet (Taissa) น่ารัก ฆาตกรโรคจิตอย่าง Tate (Evan Peters) ก็มีมิติ มีเสน่ห์ จนรู้สึกเกลียดไม่ลง ที่เกลียดคืออีแม่ Constance (Jessica Lange) เล่นได้น่าตบมาก ๆ 555 ส่วนแม่บ้านทั้ง 2 ร่างก็น่าดึงดูดไปคนละแบบ ร่างชรา (Frances Conroy) ดูลึกลับ ร่างสาว (Alexandra Breckenridge) เย้ายวนสุด ๆ

หลังจากดูภาคแรก Murder House จบก็ต่อด้วยมหกรรมดู AHS แบบมาราธอน

จาก 1 (Murder House) ไป 8 (Apocalypse) ย้อนมา 6 (Roanoke) 3 (Coven) 2 (Asylum) แล้วข้ามไป 9 (1984)

เรียงตามลำดับความชอบ

1 = 2 = 3 > 9 > 8 = 6

เช่นเคย ดูหนังดูซีรี่ส์ อย่าเชื่อรีวิวมาก เชื่อจริตและใจตัวเอง โดยรวมดู AHS แล้วชอบ เหมือนการได้กลับไปเจอแฟนเก่า เพราะจริง ๆ แล้วเมื่อก่อนเราชอบดูหนังผีมาก ตอนเด็กนี่เป็นแฟน Shock Cinema ช่อง 5 (รายการฉายหนังผีเกรด B) ตามดูตลอด แล้วพอโตมาหน่อยมันเริ่มเบื่อ ๆ หนังผี คิดว่าไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งเป็นอคติที่ทำให้พลาดซีรี่ส์สนุก ๆ แบบ AHS ไป

โอเคแหละ AHS มันก็ทำตามสูตรแนว Horror ส่วนใหญ่ แต่จุดที่ทำให้มันมีเสน่ห์ก็คือ “บท” ที่มีการวางธีมและสร้างปมตัวละครอย่างดี และคาแร็กเตอร์แบบสีเทาอ่อนจนถึงเทาเข้ม ชอบทำอะไรสนองนี้ด ทำให้การดำเนินเรื่องคาดเดาได้ยาก มีการพลิกไปพลิกมา ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นตามตลอด

ในแต่ละซีซั่น จะมีการเปลี่ยนธีมไปเรื่อย ๆ เช่น เปลี่ยนสถานที่จากบ้านผีสิง ไปโรงพยาบาลบ้า หรือเปลี่ยนยุค เช่น ภาค 1984 มีการผสมผสานความเชื่อและเรื่องเล่าต่าง ๆ เช่น ตำนานเมือง เรื่องเล่าปรัมปรา คัมภีร์ไบเบิล ลัทธิซาตาน เรื่องลี้ลับต่าง ๆ เช่น มนุษย์ต่างดาว และคดีฆาตกรรมสยองขวัญ แน่นอนแหละว่าในเรื่องมีผี ปีศาจ หรือตัวแทนซาตาน แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่หลอนที่สุดบางครั้งก็คือ “มนุษย์” ด้วยกันเอง

จุดเด่นอีกอย่างของ AHS คือ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในแต่ละซีซั่น แต่เราจะได้เห็นดาราขาประจำ หน้าเดิม ๆ เวียนกลับมารับบทบาทใหม่ ๆ ทั้งที่มันควรจะน่าเบื่อ แต่กลับกลายเป็นเสน่ห์ของจักรวาลนี้

#รีวิวแต่ละภาค

ความรู้สึกเล็ก ๆ จากที่ได้ดูไป 6 ซีซั่น (ไม่นับภาค 1 ที่รีวิวไปแล้ว)

2 – Asylum

รีวิวจำนวนมากบอกว่าดีแต่ไม่ชอบความหม่น แต่ส่วนตัวชอบภาคนี้มาก มีการผสมธีม metanarrative ระหว่าง “ซาตาน” กับ “มนุษย์ต่างดาว” แต่สุดท้ายแล้วคิดว่าสิ่งที่น่ากลัวจริง ๆ คือ “มนุษย์” เรานี่แหละ ตัวละครในคราบของนักบวช หมอ ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ มีความบิดเบี้ยวทางจิตใจ (จนทำให้ภาคนี้แม่แลงจ์กลายเป็นคนดีขึ้นมาเลย 555) ความแก่ตัวของมนุษย์ และการกระทำอันโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บางทีมันก็โหดร้ายเกินกว่าน้ำมือปีศาจ

ชอบภาคนี้ตรงที่ มันเล่นกับความรู้สึกทางจิตใจของมนุษย์มากกว่าเรื่องลี้ลับ (โดยเฉพาะมนุษย์ต่างดาวที่โผล่มาให้เห็นน้อยมาก แต่เป็นตัวสร้างจุดเปลี่ยนบางอย่าง) และชอบการคลี่คลายเรื่องราวของตัวละครในช่วงท้าย

3 – Coven

เอาจริงภาคนี้มันทั้งกาวทั้งเรื้อน แต่ด้วยความที่ตัวละครต่าง ๆ มันมีความเป็น Frenemy เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทำให้เรื่องราวพลิกไปพลิกมาตลอด มีการผสานเส้นเรื่องหลักและเส้นเรื่องรองได้อย่างกลมกลืน แถมยังจิกกัดประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิวได้อย่างแสบ ๆ คัน ๆ (โดยให้ ‘มาดามเดลฟีน’ ที่ในอดีตชาติเคยทำทารุณกรรมทาสผิวสีต้องกลับกลายมาเป็นคนรับใช้ให้แก่แม่มดผิวสีอย่าง ‘ควีนนี’) การคลุกเคล้าเรื่องราวความเชื่อระหว่างตำนานแม่มด และหมอผีวูดูแบบจัดเต็ม ก็ทำให้ Coven เป็นอีกภาคหนึ่งที่บันเทิงเริงใจมาก ๆ

เป็นอีกภาคที่กาวมากแต่ก็สนุกมาก ภาคนี้หญิงเป็นใหญ่ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “โรงเรียนแม่มดของจริงไม่ใช่แบบฮ็อกวอตส์ มันต้องเป็นแบบโคเวนนี้แหละ ใช่เลย” ภาคนี้รวมพลนักแสดงหญิงที่เราชื่นชอบ ไม่ว่าจะ ซาร่า / ไทซ่า / เอ็มม่า / ฟรานเชส แม่แลงจ์ที่รับบทเป็น Supreme (แม่มดสูงสุด) ก็ชั่วได้ใจ หรือลิลี่ในบท ‘Misty Day’ แม่มดฮิปปี้ที่มีพลังชุบชีวิตก็มีเสน่ห์ดี

6 – Roanoke

ตอนอ่านเรื่องย่อและรีวิวภาคนี้แล้วรู้สีกอยากดูมาก เพราะเห็นว่าเป็นภาคที่ทดลองเล่าเรื่องด้วยเทคนิคแบบสารคดีกับเรียลลิตี้โชว์ เส้นเรื่องหลักคือคู่รักที่หนีชีวิตเมืองกรุง แต่ดันจับพลัดจับผลูไปอยู่ในบ้านเฮี้ยนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของอดีตอาณานิคมโรอาโนคที่พลเมืองนับร้อยหายสาบสูญไปอย่างลึกลับ

ส่วนที่ชอบของ Roanoke คือเรื่องเล่าตำนานเมืองของกลุ่มชนที่มาตั้งรกรากในอเมริกา และชอบการเล่าเรื่องในครึ่งแรกที่เป็นสารคดีจำลอง แต่ไม่ค่อยชอบครึ่งหลังที่เป็นเรียลลิตี้โชว์ (เพราะมันมีหลายจุดที่คาดเดาได้ และบางตัวละคร บางฉากก็น่ารำคาญ แต่ก็แนว ๆ Survival Games ดูไปลุ้นไป ใครจะอยู่ใครจะรอด)

ส่วนตัวนอกจากความบันเทิงที่ได้แล้ว ภาคนี้เหมือนจะเสียดสีเรื่องสื่อในยุค Hyperreal โดยเฉพาะในครึ่งหลังที่ทุกคนตั้งแต่โปรดิวเซอร์ไปยันตัวละครยิบย่อย ต่างก็หมกมุ่นอยู่กับเรตติ้ง การสร้่างภาพ หรือการเก็บบันทึกภาพ จนไม่สนใจใยดีกับสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่อยู่ตรงหน้า

8 – Apocalypse

นี่เป็นลำดับที่ 2 ที่เราดูต่อจากภาคแรก เพราะเห็นว่ามันมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ใน Murder House (และยังเชื่อมโยงกับภาค 3 และภาค 5 ด้วย ใครที่ชอบภาคแรกและ Coven น่าจะชอบภาคนี้)

แอบเสียดายที่ภาค 8 เหมือนหนังไม่ตรงปก เพราะตอนแรกที่พูดถึงเรื่องนิวเคลียร์ล้างโลกเราว่ามันน่าตี่นเต้นดี แต่พอหลังจากนั้นซีรี่ส์ก็เปลี่ยนจุดโฟกัส โดยเน้นที่เรื่องราวของกลุ่ม Elite ผู้อยู่รอดที่ใช้ชีวิตกบดานอยู่ในเชลเตอร์และเฝ้านับเวลาถอยหลัง

แล้วอยู่ ๆ แกนเรื่องก็เปลี่ยนมาเป็นการปะทะกันระหว่าง “กลุ่มแม่มด” กับ “ร่างทรงซาตาน” (ที่เป็นผู้บงการให้เกิดวันล้างโลกตามคำทำนาย) แม้จะเปลี่ยนกันแบบดื้อ ๆ แต่ก็โคตรสนุกเลย แถมมีตอน Fan Service โดยเฉพาะตอนที่ 6 (Return to Murder House) ที่พาคนดูกลับไปรำลึกกับตัวละครที่เราผูกพันในภาคแรก (และเป็นจุดกำเนิดของทายาทอสูร Michael Langdon)

โดยรวมก็สนุกแหละ อาจมีผิดหวังบ้างก็ตรงที่หนังไม่ตรงปก กับตอนจบที่อิหยังวะนิดหน่อย แต่เมื่อหยิบภาค 8 มาดูในช่วงนี้ (สงครามรัสเซีย-ยูเครนเอย เกาหลีเหนือยิงมิสไซล์ข้ามเกาะญี่ปุ่นเอย) ก็ทำให้พลางคิดถึงความบ้าบอ ไร้เหตุผล ที่อาจกลายเป็นชนวนนำไปสู่สงครามล้างโลกแบบในซีรี่ส์นี้ก็ได้

9 – 1984

เพื่อนแนะนำให้ดู เป็นภาคหนึ่งที่ลงตัวมากที่สุด (และเป็น 1 ในไม่กี่ภาคที่จบแบบ Happy Ending)

ชอบตรงที่มันเป็นภาคที่ Hype กับยุค 80’s มาก ๆ ด้วยความที่ ผกก. ทั้งคู่เติบโตมาในยุคนี้ ก็เลยถ่ายทอดทุกอย่างได้สมจริงสุด ๆ ตั้งแต่ไตเติล เพลงประกอบ เสื้อผ้าหน้าผมนักแสดง แบบว่าจ๊าบสุด ๆ พีคตรงให้พวกนักแสดงนำเป็นก๊วนนักเต้นแอโรบิคแดนซ์

แถมภาคนี้ยังเล่นกับ Gimmick เสน่ห์หนังผีในยุค 80’s แนว Slasher (เชือดไม่เลี้ยงแบบหนังศุกร์13 หรือเฟรดดี้ ครูเกอร์) และเป็นอีกภาคที่มีการวางโครงเรื่องและสร้างปมตัวละครมาดี มีจุดพลิกผันให้คนดูได้เซอร์ไพรส์แทบทุกตอน (บางตัวละครก็เดาทางได้ง่าย แต่บางตัวนี่เซอร์ไพรส์สุด ๆ)

เสน่ห์ที่เราชอบของภาคนี้ คือ วิธีการจัดการความสัมพันธ์ของประชากรผี ที่พอถึงจุดหนึ่งแล้วอยู่ ๆ พวกผีก็ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มี Learning Curve พัฒนาการทางอารมณ์ (ไปจนถึงแนวคิดอหิงสา 555) นอกจากนี้ ชอบฉากสามัคคีชุมนุมสะกดวิญญาณ มันสะใจแบบบอกไม่ถูก

ภาคนี้ยังให้แง่คิดบางอย่าง เช่น การอย่าตัดสินคนจากภายนอก หรือ การให้โอกาสคนที่พลั้งผิดได้กลับตัวกลับใจ (Redemption) 1984 จึงเป็นภาคที่สนุกครบรส มีทั้งสยองขวัญ ดราม่า ตลก เป็นภาคที่ดูแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจ และถ้าใครที่เคยชื่นชอบดนตรี New Wave ในยุค 80’s มาก่อนน่าจะชอบภาคนี้มาก ๆ เพราะมีการกล่าวถึงศิลปินดังในยุคนั้น เช่น Billy Idol, Kajagoogoo และมีบทเพลงต่าง ๆ ของ Duran Duran หรือ Survivor (Eye of the Tiger) เปิดคลอเป็นระยะ ๆ

20 ปีหนัง Lily Chou-Chou


สมัยหนังออกใหม่ ๆ ต้นยุค 2000 มันเป็นหนังที่อยู่นอกความสนใจเราเลย อาจจะเพราะด้วยหน้าหนัง และการทำตลาดแบบผิด ๆ ในไทย (ที่ทำให้เราเข้าใจว่ามันคงเป็นหนังวัยรุ่นใส ๆ พ่วงขาย J-Pop)

หลังจากนั้น 5-6 ปีผ่านไปถึงได้ดูครั้งแรก ถ้าจำไม่ผิดดูที่ JF และหนังฉายไปแล้วครึ่งเรื่อง หลังดูจบคือแบบว่าเฮ้ย… กูพลาดอะไรไปเนี่ย? คือหนังมันไม่ใช่แบบที่คิดไว้เลย เป็นหนังวัยรุ่นที่โคตรดาร์ก โคตรหม่น สไตล์หนังและการเล่าเรื่องก็จัดจ้านมาก ๆ ถือว่าล้ำสุด ๆ ในยุค 2000 ตอนนั้นชอบถึงขนาดที่ต้องมาหาข้อมูลเพิ่มในเน็ต แล้วก็เผอิญไปเจอกับบทความเรื่อง Ether ของ Merveilleux (หรือต่อ-คันฉัตร) เลยยิ่งอินเข้าไปใหญ่

การดู Lily Chou-Chou ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3

– 20 ปีผ่านไป หนังมันก็ยังไม่เชย ยังดูร่วมสมัย (แม้หลาย ๆ อย่างจะ out ไปแล้วในยุคปัจจุบัน เช่น การคุยผ่าน webboard / chatroom ในยุค Internet 2.0 หรือเครื่องเล่น Sony Walkman)

– ดูหนังเรื่องนี้แล้วอินกับวรรคทองที่ว่า “ช่วงเวลาบนแผ่นฟิล์มคือนิรันดร์” เราได้ย้อนกลับไปดู Aoi Yu หรือ Ichihara Hayato ในวัยหนุ่มสาว และประเด็นเรื่อง Bully การกลั่นแกล้งที่เกิดขึันในโรงเรียน หรือการถ่ายทอดเรื่องราว Coming of Age ความรู้สึกสับสน เคว้งคว้างของวัยรุ่น และผลกระทบที่เกิดจากครอบครัวแตกสลาย สิ่งเหล่านี้ยังคงเรียกอารมณ์ร่วมจากเราได้ดี

– เรายกให้ Lily Chou-chou เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของ Iwai Shunji ที่ปล่อยของในหนังเรื่องนี้แบบสุด ๆ หนังเปิดเรื่องมาอย่างกับหนังโฆษณา Walkman เราเห็นเด็กหนุ่มหน้าตาละมุนอย่าง ‘ยูอิจิ’ ยืนฟังเพลงอยู่ในทุ่งหญ้าเขียวขจี โดยมีเพลงฟุ้งฝันของศิลปินที่เขาคลั่งไคล้อย่าง Lily Chou-Chou เป็นส่วนหนึ่งของฉากหลัง และในขณะเดียวกันก็ปรากฎบทสนทนาในห้องแชทของกลุ่ม FC คลั่งรักที่คุยกันอย่างพร่ำเพ้อเกี่ยวกับพลังอีเธอร์ และอวย Lily Chou-Chou ราวกับเธอเป็นศาสดา

– ในหนังจะมีเส้นเรื่องหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ ในโลกเสมือน (Internet) ที่มี Lily Chou-Chou เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และในโลกความเป็นจริง ว่าด้วยกลุ่มเด็กวัยรุ่นในเมืองชนบทที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่น่ากระอักกระอ่วน ความจริงที่โหดร้ายในสังคม โดยมีเพื่อนรักเพื่อนแค้น ยูอิจิ และ โฮชิโนะ เป็นแกนกลาง

– หนังมันเต็มไปด้วย conflict ในเว็บบอร์ด Lily Chou-Chou ที่ใช้ตัวตนเสมือน พวกเขาคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ เป็นห่วงเป็นใย แต่ในชีวิตจริงนี่… เหลี่ยมทุกดอกแล้วบอกเพื่อนกัน รักกันปานจะบีบคอตาย

หนังถ่ายทอดช่วงชีวิตเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย ที่การไปโรงเรียนแทบไม่ต่างจากไปสงคราม มีการกลั่นแกล้งทำร้ายกันอย่างไร้เหตุผล และเกินขอบเขต (จนบางทีรู้สึกว่าต้องทำกันถึงขนาดนี้ด้วยเหรอ?) Iwai เอาวัยรุ่นหน้าตาดี ใส ๆ มาปู้ยี่ปู้ยำ เผชิญชะตากรรมที่โหดร้าย และตลกร้ายที่เขาสามารถถ่ายทอดความเจ็บปวดรวดร้าวออกมาได้อย่างงดงาม

– ถ้าคนที่ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อนอาจจะงง ๆ กับสไตล์การเล่าเรื่องและการถ่ายภาพสุดแนว โดยหนังแบ่งออกเป็น 3 องก์ แล้วมีเส้นเรื่องในห้องแชท Lily Chou-Chou เป็นจุดเชื่อมโยง (หนังจะ hint คอยบอกใบ้เราเป็นระยะ ๆ ถึงตัวตนของสมาชิกในห้องแชท) องก์ที่แหวกที่สุดน่าจะเป็นช่วงที่หนุ่ม ๆ ไปเที่ยวโอกินาวะ ที่ใช้กล้องแบบ handheld ได้อารมณ์ดิบ ๆ คล้ายเรียลลิตี้หรือสารคดี แถมยังมีการสอดแทรกเรื่อง Spiritual หรือตำนานเมืองเข้ามา (และเป็นการปูไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของตัวละครหนึ่ง)

– ดูจบรอบนีั ประทับใจเหมือนเดิม ด้วยความที่หนังมันทะเยอะทะยานมาก Iwai ปล่อยของแบบไม่มีกั๊ก และถ่ายทอดแง่มุมการเปลี่ยนผ่านของชีวิตวัยรุ่นได้ดี มันก็เลยยังดูล้ำแม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว และถ้าลองนึกเทียบดู เทคโนโลยีเปลี่ยนไป จากโปรแกรมแชทคุยกันด้วย text ล้วน ๆ โหลดน้านนาน มาถึงยุค social media เร็วลื่นปรื๊ด (และอีกไม่นานก็เข้าสู่ยุค metaverse) แต่คนเราก็ยังคงต้องการมีตัวตน ต้องการการยอมรับจากใครสักคน จากที่ใดสักแห่ง

ปล. ชีวิตนี้มีบุญมาก ที่ได้เคยเจอทั้ง Aoi Yu และ Ichihara Hayato แบบใกล้ชิดมาแล้ว (ถ้าตายไปตอนนั้นเลย คงจะตายตาหลับ 555)

Late Review “ชั่วฟ้าดินสลาย”


หลังจากดู “มายาพิศวง” ของหม่อมน้อยเมื่อหลายวันก่อน วันก่อนอยู่ ๆ ก็นึกอยากดู “ชั่วฟ้าดินสลาย” เลยหยิบมาดูซะ (น่าจะเป็นฉบับ Director’s Cut ที่มีความยาว 3 ชั่วโมง)

ส่วนตัวยกให้เป็นผลงานระดับ Masterpiece ของหม่อมน้อยในยุคหลังเลย ทุกอย่างออกมาลงตัว ชอบการแสดง องค์ประกอบศิลป์ โลเคชั่นปางไม้ในขุนเขาที่ดูเหมือนอีกโลกหนึ่ง Exotic ราวกับ Shangri-La ในหนังสืออ่านนอกเวลาสมัยก่อน (หาข้อมูลพบว่าใช้ จ.เชียงราย เป็นโลเคชันหลัก)

เคมีคู่พระนางนี่ให้ 10/10 เลย อนันดากับพลอยในยุคพีค (ตอนเล่นเรื่องนี้ทั้งคู่น่าจะอายุ 20 ปลาย ๆ) อนันดาในบทส่างหม่องก็ดูเป็นหนุ่มหล่อผู้ดี คมเข้ม น่าหลงใหล มีเสน่ห์ใสซื่อ ส่วนพลอยในบทยุพดีก็ดูเฉิดฉาย เพียบพร้อมด้วยความงาม จริตจะก้านเย้ายวน และความเป็นสาวหัวขบถ (ส่วนบี๋-ธีรพงศ์ ในบทพะโป้ ก็ดูเป็นหนุ่มใหญ่เจ้าเสน่ห์ มีเค้าฝรั่งคล้ายอนันดาจนทำให้เชื่อว่าเป็นอาหลาน และถ่ายทอดมิติของตัวละครนี้ได้ดี)

ซีนและบทพูดหลายส่วนถูกออกแบบมาได้อย่างยอดเยี่ยม น้อยแต่มาก ชอบบางฉากที่คู่พระนางถูกล่ามโซ่ตรวนแล้ว เช่น ฉากที่ทั้งคู่นั่งอยู่หน้าประตูบ้านแบบมีระยะห่าง หรือฉากพ่อแง่แม่งอนบนเตียงที่ถ่ายทอดสีหน้าแววตาของนักแสดงแบบ Close-up ให้อารมณ์สะกดสายตาแบบแปลก ๆ หรือการเล่นกับ Gimmick วรรคทอง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ที่ปรากฏเพียงไม่กี่ช่วง แต่สร้าง Impact ได้ดีเหลือเกิน รวมไปถึงการโควทบทกวีของเรื่อง The Prophet หรือ The Doll’s House เพื่ออธิบายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร แล้วนำมาจัดวางในบางซีนได้อย่างเหมาะเจาะ

หนัง “ชั่วฟ้าดินสลาย” เป็นหนังที่ตีความได้หลายแง่มุม ทั้งในแง่ของความรัก ศีลธรรม (ศาสนา) ไปจนถึงการเมือง (ไปอ่านเจอมา น่าสนใจดี ที่ในทศวรรษ 2550 หม่อมน้อยเลือกทำหนัง 2 เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” และ “จัน ดารา” ซึ่งมีฉากเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 เข้ามาเกี่ยวข้อง)

ที่เสียดายคือ อยากรู้ที่มาที่ไปของมาลัย ชูพินิจ มากกว่านี้ ว่าเขามีแรงจูงใจอย่างอื่นในการแต่งชั่วฟ้าฯ หรือเปล่า? เท่าที่หาข้อมูลรู้เพียงว่า คุณมาลัยแกเป็นนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า เป็นคนกำแพงเพชร ซึ่งก็น่าจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากชื่อบุคคลที่มีตัวตนจริงเช่น พะโป้ หรือส่างหม่อง คหบดีชาวพม่า แต่แต่งเติมเรื่องราวต่าง ๆ เข้าไป (อ่านประวัติย่อของคุณมาลัย นักเขียนสมัยก่อนนี่เขาหากินกับงานเขียนได้แบบจริงจัง โดยคุณมาลัยนั้นมีผลงานเขียนกว่า 3,000 ชิ้น)

การวิเคราะห์ตีความแบบง่าย ๆ …

ในเชิงความรัก โศกนาฎกรรมรักของหนังเรื่องนี้ที่ถ่ายทอดผ่านสัญญะ “การล่ามโซ่คู่รักข้าวใหม่ปลามัน” ทำให้นึกถึงเพลง “ที่ว่าง” ของวง Pause ที่พูดถึงการเว้นระยะห่างเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว…

“หากเคียงชิดใกล้ แต่เธอต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อฉัน

ประโยชน์ที่ใด หากรักทำร้ายตัวเอง

หากเดินแนบกาย มีพลั้งต้องล้มลงเจ็บ ด้วยกัน

ห่างเพียงนิดเดียว ให้รักเป็นสายลมผ่านระหว่างเรา

แบ่งที่ว่างตรงกลางไว้คอย เพื่อให้เธอได้ตามหาฝัน ของเธอ”

ในหนังนั้นก็โควทบทกวีของยิบราน มีท่อนหนึ่งที่กล่าวว่า…

“…จงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก เพราะว่าเสาของวิหารนั้น ก็ยืนอยู่ห่างกัน และต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้…”

ในแง่มุมสังคม-การเมือง ตัวละคร “พะโป้” คือตัวแทนของปิตาธิปไตย เป็นผู้ที่มีส่วนผสมทั้งความเป็นตะวันตกและศักดินา กล่าวคือ เขาเรียนรู้ รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก เวลาไปทำธุรกิจที่พระนครก็จะแต่งตัวแบบสากลนิยม ทำตัวฝรั่งจ๋า แต่เมื่ออยู่ที่ปางไม้ เขาก็จะแต่งตัวแบบท้องถิ่นเต็มยศ และยังคงปกครองบ่าวไพร่ราวกับยุค Feudal อาณาจักรของพะโป้เป็นเสมือนอีกโลกหนึ่ง เป็นบ้านเมืองที่ไม่มีขื่อมีแป ทุกอย่างขึ้นตรงกับนายห้าง ผู้สามารถชี้เป็นชี้ตายได้

และตัวพะโป้เอง เป็นคาแร็กเตอร์ที่มีความขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ เขาดูเป็นคนเคร่งศาสนา ในเรือนจะเห็นว่ามีพระพุทธรูปตั้งอยู่เป็นสิบ ๆ องค์ และเป็นประธานในพิธีทางศาสนาบ่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกัน พะโป้ก็มักมากในกาม เปิดฮาเร็มในปาง มีเมียเก็บเป็นสิบ ๆ คน และเขาปฏิบัติกับผู้คนในบัญชาราวกับสิ่งของ (เหมือนยุคทาส) เบื่อเมียคนไหนขึ้นมาก็ยกให้ลูกน้องแบบดื้อ ๆ หรือวิธีการปฏิบัติต่อคู่รักทรยศอย่างส่างหม่อง-ยุพดี ที่ให้พิสูจน์รักแท้ด้วยการล่ามโซ่ แม้จะถือเป็นบทลงโทษต่อการผิดศีลผิดจารีต แต่ก็ค่อนข้างจะเป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม (ซึ่งขัดกับค่านิยมของยุคสมัยใหม่) จะว่าไปพะโป้ก็เป็นคนที่มีทั้งพระเดชพระคุณ สามารถเป็นได้ทั้งชายที่เมตตาปรานีและอำมหิตในคนเดียวกัน

ส่วนตัวละครหญิงร้ายอย่าง “ยุพดี” นี่ก็เป็นเหมือนตัวแทนของแนวคิดเสรีนิยมที่ถูกแสดงออกผ่านลักษณะนิสัย หรือหนังสือที่เธออ่าน ซึ่งสุดท้ายแล้วการล่อลวงชักนำ “ส่างหม่อง” ไปสู่อิสรภาพ กลับต้องจ่ายด้วยบทเรียนราคาแพง (สุดท้ายแล้วแนวคิดเสรีนิยมก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับปิตาธิปไตย และกฎแห่งกรรมซะงั้น?)

ใครสนใจ เราหยิบเอาลิ้งของบทวิเคราะห์ต่าง ๆ มาให้

ชั่วฟ้าดินสลายตีความเชิงสัญลักษณ์

*** ชั่วฟ้าดินสลาย *** พุทธพบคริสต์ ข้อคิดชีวิตรัก และโช่ตรวนที่มองไม่เห็น

มองเซ็กส์และการเมืองผ่านสายตาหม่อมน้อย

ปล. ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ ท่านมุ้ย ก็เคยเกือบนำชั่วฟ้าดินสลายมาสร้างในปี 2537 โดยจะร่วมงานกับนักเขียนบทจากฮอลลีวูด Stirling Silliphant พร้อมกับวางตัวนักแสดงชั้นนำ เช่น Anthony Hopkins (พะโป้) Julia Roberts (ยุพดี) Daniel Day-Lewis (ส่างหม่อง) และ สรพงศ์ ชาตรี (ทิพย์) แต่ปรากฏว่าคุณสเตอร์ลิงดันเสียชีวิตไปก่อน ก็เลยต้องพับโปรเจคนี้ไป โดยสเตอร์ลิงนั้นเคยเป็นเพื่อนสนิทของ Bruce Lee และได้ฝากผลงานคลาสสิคเช่น In the Heat of the Night และเขาก็ย้ายมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย

สเตอร์ลิง เคยพูดถึงความ Exotic ของประเทศไทยไว้ (ซึ่งทำให้แอบนึกถึงปางของพะโป้ ฮา…)

“I came to Thailand to die. I needed to be surprised. I wanted to be shocked. Bangkok is unpredictable and it delivers if you give it a chance. Even the small adventures are memorable.”

Matt Smith กับความท้าทายบทใหม่ Daemon Targaryen เจ้าชายร้ายก็รัก


จากแฟนเพจ ขีด เขียน เรียน รู้

‘เดมอน ทาร์แกเรียน’ (Daemon Targaryen) เจ้าชายสายอีโมผู้เกรี้ยวกราด เป็นหนึ่งในตัวละครชายที่สร้างสีสันให้กับซีรี่ส์ House of the Dragon (HOTD) และเมื่อจบ EP3 ความนิยมของเดมอนก็พุ่งสูง หลังโชว์ความห้าวหาญ MVP บุกเดี่ยว 1 ปะทะ 100 ในสมรภูมิสุดเดือดสเต็ปสโตนส์ ซึ่งผู้กำกับ เกร็ก ไยทาเนส กล่าวถึงสถานการณ์สร้างวีรบุรุษครั้งนี้ว่า “มันเป็นการวิ่งพลีชีพ เดมอนอาจตายได้ทุกเมื่อ และฉากนี้เป็นการสำแดงตัวตนของเดมอน เขาต่อสู้แบบบ้าระห่ำ ใช้ตัวเองเป็นเหยื่อล่อ ผ่านประสบการณ์เฉียดตาย และสุดท้ายก็พิสูจน์ตนเองได้สำเร็จ จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วเวสเทอรอส”

และดูเหมือนว่าฉากบู๊ใน HOTD จะเข้าทางอดีตนักฟุตบอลเยาวชนอย่างแม็ต เขากล่าวว่า “ในแง่การแสดง ผมดีใจที่ไม่ต้องเข้าฉากโต๊ะประชุมบ่อย เพราะมันเป็นฉากหนึ่งที่ถ่ายทำยากมาก ๆ มันทำให้คุณเครียดจนสติแตกได้ ผมชอบเข้าฉากบู๊ถือดาบอยู่บนหลังม้ามากกว่า”

การสวมบทเดมอน ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของ แม็ต สมิธ (Matt Smith) ดาราหนุ่มเจ้าบทบาทวัย 39 ปี ผู้แจ้งเกิดจาก Doctor Who ซีรี่ส์สุดโด่งดังแห่งเกาะอังกฤษ และฝากผลงานแสดงไว้หลากหลาย อาทิ แสดงเป็นเจ้าชายฟิลิปในซีรี่ส์ The Crown เป็นแวมไพร์ในหนังซูเปอร์ฮีโร่ Morbius และเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ชาร์ลส์ แมนสัน ในหนัง Charlie Says

แม็ตเองเป็นแฟนซีรี่ส์ Game of Thrones (GOT) มาก่อน และเขารู้ว่าการจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาลนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเล่าว่ารู้สึกประหม่าตอนถูกเรียกตัวไปแคสต์บท “ผมนั่งอยู่ในรถกับเอเยนต์ เขาบอกว่ามีบทนี้ในโชว์เรื่องใหม่ที่เป็นภาคก่อนของ GOT แน่ะ ผมแบ่งรับแบ่งสู้ ‘โอ้ จะดีเหรอ’ นี่มันผลงานขึ้นหิ้งเลยนะ แต่ทางนั้นยื่นข้อเสนอมาอีกครั้ง จากนั้นผมก็ไปทดสอบบท แล้วก็ตามนั้นเลย” ท่ามกลางความลังเล มีปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แม็ตตัดสินใจตอบรับ นั่นคือ โอกาสได้ร่วมงานกับ แพ็ดดี คอนซิดีน (Paddy Considine) นักแสดงรุ่นพี่ชาวอังกฤษ ผู้รับบทกษัตริย์วิเซริส (King Viserys) ซึ่งเป็นนักแสดงที่เขาชื่นชอบมานาน

เมื่อได้สัมผัสถึงตัวตนของเดมอนมากขึ้น แม็ตพบว่าเขาเป็นตัวละครที่น่าหลงใหล มีความซับซ้อนทางอารมณ์สูง แม้แต่ผู้ประพันธ์อย่าง จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ก็เคยออกปากว่าเดมอนเป็นตัวละครในตระกูลทาร์แกเรียนที่เขาชื่นชอบที่สุด จอร์จกล่าวว่า “ใคร ๆ ก็รู้ว่าผมชอบตัวละครสีเทา ๆ และหนึ่งในตัวละครที่มีเฉดสีเทาเข้มที่สุดในประวัติศาสตร์เวสเทอรอสก็คือเดมอน ทาร์แกเรียน the Rogue Prince (เจ้าชายอันธพาล) เขาเป็นแบดบอย ร้ายกาจในทุกแง่มุม เป็นคาแร็กเตอร์ที่มีสีสัน”

ในซีรี่ส์ HOTD แต่ละตอน จะค่อย ๆ แง้มให้เห็นตัวตนของเดมอนทีละนิด ซึ่งแม็ตได้วิเคราะห์คาแร็กเตอร์ที่เขาสวมบทบาทไว้อย่างน่าสนใจ “เดมอนเป็นคนที่มีหลายแง่มุม คุณไม่รู้หรอกว่าเขาคิดอะไรอยู่ ผมชอบความกำกวมแบบนั้นแหละ เขาเป็นผู้ชายดิบ ๆ ที่ใช้สัญชาตญาณนำทาง เป็นพวกนิยมความรุนแรง มีมุมมองด้านจริยธรรมที่ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว ตัวอย่างเช่น เขาคิดว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่พฤติกรรมที่ปรากฏนั้นช่างรุนแรงและป่าเถื่อนสิ้นดี ในหัวของเขา เขาคิดว่าเขาลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เขาไม่ได้ทำเพื่อสนองความต้องการตัวเอง แต่เขาใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง ผู้คนก่นด่าว่าเขาเป็นตัวร้าย และเขาทำแต่เรื่องโฉด ๆ นั่นคือเรื่องจริง แต่ผมคิดว่าลึก ๆ แล้วเขาเป็นคนอารมณ์อ่อนไหว มันมีความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ข้างในตัวตนที่ดูแข็งกร้าว”

แม็ตยังได้กล่าวถึงมังกรคู่ใจของเดมอน ‘คาแร็กซิส’ (Caraxes) ว่า “มันเป็นเหมือนร่างอวตารของเดมอนเลยล่ะ ทั้งบูดบึ้ง ชอบวางก้าม จุดเดือดต่ำ และเป็นตัวป่วน มันมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างมังกรกับผู้ขี่มังกร ในการถ่ายทำนั้นเราไม่ได้ใช้แต่ซีจีอย่างเดียว มันมีมังกรยนต์ที่คุณจะขึ้นไปนั่งอยู่บนตัวมัน แล้วพวกเขาบังคับมันให้เคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ด้วยรีโมตคอนโทรล ในขณะเดียวกันก็สาดใส่ฝนเทียมหรือสิ่งต่าง ๆ มาที่ตัวคุณ”

นอกจอ แม็ตชอบชีวิตเรียบง่าย ในยามว่างเขาชอบดื่มสังสรรค์กับเพื่อน ไปดูเทนนิสวิมเบิลดันกับคุณแม่ หรือไม่ก็ดูฟุตบอล เขาเป็นแฟนตัวยงของทีมแบล็คเบิร์น (Blackburn Rovers) ในวัยเยาว์ แม็ตเคยใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และเคยเป็นถึงกัปตันทีมเยาวชนของสโมสรเลสเตอร์ (Leicester City) มาแล้ว แต่เคราะห์ร้ายที่เขาเผชิญกับอาการบาดเจ็บจากโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน ทำให้ต้องยุติอาชีพค้าแข้งและเบนเข็มสู่วงการนักแสดง ซึ่งแม็ตเคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเลือกได้เขาอยากจะเป็นนักเตะตัวรุกฝีเท้าฉกาจอย่างเช่น เธียร์รี อองรี

ในวัยย่างสี่สิบ แม็ตกล่าวว่า “ผมรู้สึกโชคดีที่ตัวเองมีครอบครัวดี ๆ เพื่อนดี ๆ ได้ทำอาชีพนักแสดง อะไรจะมีความสุขไปกว่านี้ สำหรับผมแล้วหัวใจมันไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จ แต่เป็นการที่ได้ท้าทายตัวเองและได้รับแรงกระตุ้น ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ คงเพราะสมัยเด็กผมเล่นกีฬาเยอะ มันก็เลยมีความคิดติดตัวว่าผมจะต้องก้าวต่อไป พัฒนาตัวเอง ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น และผมหวังว่าตัวเองในวัย 40 จะเป็นนักแสดงที่ดีกว่าตอนอายุ 30”

#HouseoftheDragon#GameofThrones

Milly นักแสดงสาวออสซี่กับบทพลิกชีวิต เจ้าหญิง ‘Rhaenyra’ ผู้สืบสายเลือดมังกร


นับตั้งแต่ House of the Dragon ออนแอร์ หนึ่งในตัวละครเด่นที่กลายเป็นขวัญใจผู้ชมคงหนีไม่พ้น “เจ้าหญิงเรนีรา” ในวัยเยาว์ ที่รับบทโดยนักแสดงสาว มิลลี อัลค็อก ด้วยบุคลิคของรัชทายาทมาดมั่น ฉลาดเฉลียว เยือกเย็น และเรื่องราวดราม่าเข้มข้น ชีวิตสู้กลับครั้งแล้วครั้งเล่าจากศึกแย่งชิงบัลลังก์ของตระกูลทาแกเรียน ทำให้เรารู้สึกอินกับเจ้าหญิงน้อย และร่วมลุ้นไปกับชะตากรรมอันโลดโผนของเธอ

เสน่ห์ของแฟรนไชส์ซีรี่ส์ Game of Thrones คือการสร้างตัวละครที่มีมิติ ใน House of the Dragon (HOTD) เราจะได้เห็นพัฒนาการของ เรนีรา (Rhaenyra Targaryen) ทายาทของกษัตริย์วิเซริส (และมีศักดิ์เป็นย่าเทียดของแดเนริส) เจ้าหญิงวัยรุ่นที่แบกรับแรงกดดันมหาศาลจากการถูกวางตัวเป็นรัชทายาท ต้องเผชิญกับคลื่นใต้น้ำจากกลุ่มอำมาตย์ที่สนับสนุนให้น้องชายต่างแม่ ‘เจ้าชายเอกอนที่สอง’ (Aegon II) เป็นผู้สืบบัลลังก์ ซึ่งปมขัดแย้งนี้จะเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง The Dance of the Dragons (ศึกมังกรเริงระบำ) ในภายหลัง

ผู้ที่มารับบทเป็นเรนีราในช่วงวัยรุ่น (5 อีพีแรกของซีซัน 1) ได้แก่ มิลลี อัลค็อก (Milly Alcock) นักแสดงสาวสวยเก๋วัย 22 ปีจากประเทศออสเตรเลีย เคยได้รับรางวัลนักแสดงดาวรุ่งปี 2018 จากซีรี่ส์แนวโรดทริปเรื่อง ‘Upright’ ซึ่งมิลลีแสดงร่วมกับพระเอกคอเมดี้ชื่อดัง ทิม มินชิน (Tim Minchin) เธอรับบทเป็น เม็ก เด็กสาวผู้หนีออกจากบ้านและร่วมผจญภัยไปกับนักดนตรีหนุ่มวัยกลางคน ลัคกี้ เดินทางข้ามทะเลทราย 4,000 ไมล์ เพื่อนำเปียโนไปส่งคืนที่บ้านเกิดของลัคกี้ในเมืองเพิร์ท

แน่นอนว่าการได้รับบทเรนีราใน HOTD จะช่วยยกสถานะมิลลีจากนักแสดงดาวรุ่งออสเตรเลีย ไปสู่การเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากวัยรุ่นสู้ชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคาที่บ้านแม่ หารายได้พิเศษจากการล้างจานในร้านอาหาร และตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนการแสดงเพื่อตามล่าฝัน มิลลีได้ออดิชันบทกับโปรเจคนิรนามของ HBO ที่ทีมงานให้เธออ่านบทพูดของตัวละครลับชื่อ YR แล้วอีกสองอาทิตย์ถัดมาเธอก็ได้รับข่าวดีจากเอเยนต์ มิลลิกล่าวว่า

“ฉันได้รับบทเรนีราใน HOTD และฉันบอกใครไม่ได้ ฉันตื่นเต้นจนแทบจะล้มทั้งยืน” “ฉันถามเพื่อนว่ามีไวน์ไหม แล้วก็โทรไปบอกแม่ พวกเขารู้ว่าจะต้องมีเรื่องสำคัญแน่ ๆ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร และฉันก็ต้องเก็บมันไว้เป็นความลับนานทีเดียว”

มิลลีสารภาพว่าเธอไม่เคยดู Games of Thrones (GOT) มาก่อน ฉะนั้นเธอต้องทำการบ้านอย่างหนัก มิลลีอ่านทวนสคริปต์รอกแล้วรอบเล่า เข้าเว็บ Fire and Ice Wiki เพื่อหาข้อมูล และขี่จักรยานไปสิงอยู่ที่ห้องสมุดวันละ 6 ชั่วโมงเพื่อศึกษาโลกแฟนตาซีจากหนังสือของจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน และเมื่อกลับถึงบ้านเธอจะฝึกสำเนียงการพูดของเรนีรา ทำผังตระกูลต่าง ๆ และยศในราชสำนักเพื่อทำความเข้าใจภาพรวม และนั่งดูซีรี่ส์ GOT ต้นฉบับไปด้วย

มิลลีเปิดใจว่า “มันรู้สึกเหมือนฉันถูกพาตัวจากออสเตรเลียแล้วไปหย่อนไว้กลางมหาสมุทร ฉันเคยเล่นละครทีวีในออสเตรเลีย ซึ่งงบของทั้งเรื่องน้อยกว่างบการถ่ายทำซีรี่ส์ HOTD หนึ่งตอนด้วยซ้ำ ฉันไม่เคยอยู่ในกองถ่ายหนังระดับร้อยล้านดอลลาร์แบบนี้มาก่อน การรับบทเรนีราจึงเป็นงานใหญ่ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบใหญ่หลวง และมันน่าสนใจเพราะว่าทั้งฉันและเรนีรามีเส้นเรื่องที่คล้ายคลึงกัน พวกเรากำลังผจญภัยไปในโลกที่ไม่คาดฝัน และเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ”

ใน HOTD เรนีราเป็นเจ้าของมังกรเพศเมียนามว่า ‘ซีแร็กซ์’ (Syrax) ซึ่งในการถ่ายทำนักแสดงจะต้องเข้าฉากกับบลูสกรีน มิลลีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เวลาขี่ซีแร็กซ์ในกองถ่าย ตัวฉันจะอยู่บนเครื่องจักรที่ดูคล้าย ๆ กับเครื่องเล่นวัวพยศตามผับ มันจะยกชั้นลอยขึ้นไปในอากาศ 2 เมตร แล้วก็จะมีทีมงานสี่คนคอยใช้เครื่องเป่าลมอยู่รอบ ๆ มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกดี”

มิลลียังได้เผยเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดแสง โดยใน HOTD นั้นเป็นโลกที่ไม่มีไฟฟ้า และเพื่อให้ได้แสงที่ดูเป็นธรรมชาติ จะมีทีมงานที่คอยทำหน้าที่จุดไฟ ฉะนั้นในฉากจะร้อนอบอ้าวแบบสุด ๆ มิลลีกล่าวว่า “ฉันจะเหงื่อออกท่วมตัวเลย แล้วเวลาพักก็จะกางแขนให้ทีมงานผู้หญิง 2 คนถือไดร์มาเป่าไล่เหงื่อใต้วงแขน”

พูดถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนนักแสดงใน HOTD แม้ในจอ ‘อลิเซนท์’ (Alicent Hightower) จะเป็นเพื่อนรักเพื่อนชังของเรนีรา แต่นอกจอ มิลลี เป็นเพื่อนสนิทกับ เอมิลี แครีย์ (ผู้รับบทอลิเซนท์) มิลลีกล่าวว่า “เราได้พบกันก่อนเริ่มการถ่ายทำ และเราทั้งคู่มีความรู้สึกคล้ายกันในการทำงานครั้งนี้ เราเป็นนักแสดงสาวที่กำลังถ่ายทำละครโปรดักชั่นใหญ่และรายล้อมไปด้วยผู้ชาย เราก็เลยรู้สึกผูกพันเหมือนญาติพี่น้อง ฉันทั้งรักและหวงเธอ ฉันรู้สึกเหมือนเธอเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของฉันเลย”

กับนักแสดงรุ่นพี่ ‘เอ็มม่า’ (Emma D’Arcy) ที่จะมารับไม้ต่อแสดงเป็นเรนีราในวัยผู้ใหญ่นั้น ทั้งคู่เคยคิดที่จะนัดเจอกันเพื่อหารือเกี่ยวกับพัฒนาการของคาแร็กเตอร์เรนีรา แต่ถูกขัดขวางโดยผู้กำกับ มิเกล (Miguel Sapochnik) มิลลีเผยว่า “มิเกลไม่อยากให้เราเจอกัน ฉันว่ามันแปลกดี เราก็เลยไม่เคยได้คุยกันเรื่องนั้นเลย เขาบอกว่าพวกคุณต้องเชื่อมั่นในฝีมือตัวเอง เขาคงกลัวว่าเราจะพยายามเลียนแบบสไตล์การแสดงกัน”

นอกจากความหลงใหลในการแสดงแล้ว มิลลีชื่นชอบการถ่ายภาพ มันเป็นงานอดิเรกที่เธอค้นพบในช่วงล็อคดาวน์ เธอกล่าวว่า “ฉันคิดว่ามีความงามอยู่ในความบกพร่อง มันให้ความรู้สึกสดใหม่ การที่เราสามารถควบคุมภาพหนึ่ง ๆ และปลุกความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาได้นั้นเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับฉัน”

#HouseoftheDragon#GameofThrones