สำนวนอังกฤษ / / English Idioms (53)
สำนวนอังกฤษ


Idioms / Phrases / Slangs
#PowerUp #English
#พูดอังกฤษติดสำนวน
หนังสือ IDIOM เล่มใหม่ออกแล้วนะครับ กับสำนักพิมพ์ SE-ED Smart Language ในชื่อว่า…
“POWER UP Your English – พูดอังกฤษติดสำนวนให้ฟังเริ่ด!”
เพื่อน ๆ นักอ่านสามารถหาซื้อหนังสือ POWER UP ได้ที่
– ร้านหนังสือ SE-ED ทุกสาขา
– ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
– สั่งซื้อ ONLINE ผ่านเว็บไซต์ SE-ED
= = = = = = = = = =
= = = = = = = = = =

ความหมาย:
“An army marches on its stomach” (กองทัพต้องเดินด้วยท้อง) เป็นคติพจน์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในวงการทหาร โดยสื่อความหมายได้ว่า “กองทัพที่จะประสบความสำเร็จในการศึกสงคราม จะต้องอาศัยการพลาธิการที่เพียบพร้อม” เพราะต่อให้ทหารเก่งกล้าสามารถแค่ไหน แต่ถ้าขาดเสบียงอาหาร พวกเค้าก็ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะไปรบทัพจับศึกกับใคร
ที่มา:
คติพจน์นี้มีที่มาจากคำกล่าวภาษาฝรั่งเศส ‘C’est la soupe qui fait le soldat.’
และเจ้าของวาทะดังกล่าวไม่ใช่ใครที่ไหน เค้าคือจอมทัพผู้เกรียงไกร “นโปเลียน โบนาปาร์ต”
ซึ่งเป็นผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของ “Logistics” หรือการพลาธิการ (ได้แก่การขนส่งลำเลียง เสบียงอาหาร, เสื้อผ้า, อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ไปสู่แนวรบ)
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ กองทัพมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐ” ที่มีทั้งเงินและขีดความสามารถมากพอที่จะสนับสนุนปฏิบัติการทางโลจิสติกส์ระดับมหึมา ในระหว่าง 6 เดือนของการระดมทรัพยากรเพื่อปฏิบัติภารกิจในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (ปี 1990-1991) กองทัพสหรัฐได้ทำการเคลื่อนย้ายเสบียงกว่า 1.8 ล้านตัน, ยานพาหนะ 126,000 คัน, และอาวุธยุทโธปกรณ์หนักกว่า 350,000 ตัน พวกเค้าจึงมีพร้อมสรรพทุกอย่างที่ต้องการ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้กองทัพอิรักต้องพ่ายแพ้ในเวลาไม่ถึง 100 ชั่วโมง
หรืออย่างในสงครามอัฟกานิสถาน (เริ่มต้นเมื่อปี 2001) กองทัพสหรัฐได้แสดงประสิทธิภาพในการโลจิสติกส์ไว้อย่างน่าทึ่ง โดยสหรัฐใช้เวลาแค่ 1 เดือนในการเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และใช้เวลาน้อยกว่า 3 เดือนในการส่งกำลังทหารเข้าแทรกซึมบนแผ่นดินของศัตรูที่อยู่ไกลคนละซีกโลก
ปัจจุบันการโลจิสติกส์ได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยได้มีการนำเทคโนโลยีไอทีและเครื่องมือคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ทำให้ฝ่ายพลาธิการสามารถตรวจสอบและติดตามรายการสิ่งของต่างๆที่มีอยู่ในทั่วโลกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การดำเนินการจึงยิ่งสะดวกฉับไว
:-> ;-> :-> -> ;-> :-> :-> ;-> :-> :-> ;->
In the same boat
/ All in the same boat
= ลงเรือลำเดียวกัน / ร่วมหัวจมท้าย
ความหมาย:
“In the same boat” (ลงเรือลำเดียวกัน) หมายถึง การตกอยู่ในภาวะหรือสถานการณ์เดียวกัน หรือ การที่คนกลุ่มหนึ่งเผชิญปัญหาเหมือนๆกัน และทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา
ในยามที่ครอบครัว, หมู่คณะ, ไปจนถึงประเทศชาติ ประสบปัญหา ถ้าทุกคนเอาแต่คิดแบบตัวใครตัวมัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน เราก็คงจะไปไม่รอด ฉันใดฉันนั้น ทุกคนควรจะสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อทำให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลาย
ที่มา:
สำนวนนี้ถือกำเนิดในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดยมาจากการเดินทางในทะเลด้วยเรือเล็ก ที่ผู้โดยสารทุกคนมีความเสี่ยงเหมือนๆกัน ถ้าเรือจมก็จมด้วยกัน ถ้ารอดก็รอดด้วยกัน
ตัวอย่าง:
– “We’re all in the same boat now and we shall have to work together to find a solution.”
(ตอนนี้เราทุกคนเจอะปัญหาเหมือนกัน และเราจะต้องช่วยกันหาทางออก)
:-> ;-> :-> :-> ;-> :-> :-> ;-> :-> :-> ;-> :->
Kill two birds with one stone
/ One Stone, Two Birds
= ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว
ความหมาย:
“Kill two birds with one stone” (ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว) หมายถึง การทำ 2 อย่างได้ในคราวเดียวเพราะโอกาสเอื้ออำนวย หรือการลงมือทำอะไรสักอย่าง แล้วได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างทวีคูณ (ได้ประโยชน์สองต่อ)
ทางฝั่งยุโรป สำนวนนี้เริ่มปรากฏเค้าลางเมื่อเกือบๆ 2,000 ปีก่อน ในบทประพันธ์ของ “โอวิด” ซึ่งเป็นภาษาละติน และในศตวรรษที่ 16 มันได้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น ในงานเขียนของ โทมัส ฮ็อบส์ เกี่ยวกับเสรีภาพ เมื่อปี 1656: “…to kill two birds with one stone, and satisfy two arguments with one answer.” (…เป็นการยิงลูกหินนัดเดียวได้นก 2 ตัว, และคลี่คลาย 2 ปัญหาได้ด้วยคำตอบเดียว)
ตัวอย่าง:
– “I could visit my girlfriend too while I was having business trip in Japan. It was like to kill two birds with one stone.”
(ชั้นได้ไปเยี่ยมแฟนด้วย ขณะเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น มันเหมือนกับยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว)
ใส่ความเห็น