Just another WordPress.com site

ยำกระจาย บันเทิงไทยเรือหาย!


ยำกระจาย บันเทิงไทยเรือหาย!
 
ช่วงวันหยุดปีใหม่ บรรดาน้องๆไปเยี่ยม "พี่ติ๊ง" (น้องสาวคนรองของผม) ที่อพาร์ทเมนท์
พวกเด็กๆไม่ได้กลับมามือเปล่า แต่หอบเอาดีวีดี/ซีดีมาด้วยเป็นกะตั้ก
ถ้าเป็นแค่ซีดีธรรมดาผมก็คงไม่มีเรื่องเล่าอะไรหรอกครับ
แต่ว่าเกือบทั้งหมดนี้มันเป็น "ซีดีผี" น่ะสิ! (อ่ะ อ่ะ อย่าคิดลึกว่าเป็น "ซีดีโป๊สิ" แลบลิ้น 555)
 
อพาร์ทเมนท์ของเจ้าติ๊งน่ะอยู่ในย่านดิโอลด์สยาม ซึ่งไม่ไกลจาก "บ้านหม้อ" แหล่งรวมซีดีผีสักเท่าไร
เจ้าติ๊งกับแฟนก็มักจะไปหาซื้อ "ผี" ที่นั่นเสมอ (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆว่าผีแล้วกันนะ)
หนังเทศเรื่องไหนยังไม่เข้าโรง ถามติ๊งได้ เดี๋ยวติ๊งจัดให้
ส่วนพวกดีวีดีหนังไทย/คอนเสิร์ตน่ะเหรอ เป็นที่รู้ๆกันว่า "ที่นี่มีขายก่อนแผ่นลิขสิทธิออกเสมอ!"
 
ไอ้เรื่องข้างต้นที่ว่ามาน่ะมัน plain plain เดี๋ยวนี้ใครๆเค้าก็รู้กันทั่ว
แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมพึ่งรู้แล้วก็ทำให้ขำมากนั่นก็คือ แอ่น แอ๊น….~
"ยำกระจาย" ครับพี่น้อง!!!
 
"ยำกระจาย" ที่ว่านี้ เป็นดีวีดีที่รวมมิตรหนังไทยแอบถ่ายตามโรง
และของแท้ต้องผลิตโดยค่าย "แพนด้า" เท่านั้น (พ่อผมยังพูดติดตลกว่า "แหม๊ มันยังมีหน้ามาพูดอย่างนี้อีก หน้าด้านเจงๆ")
วันนั้นผมตื่นมาก็เจอพ่อแม่กำลังนั่งดู "ยำกระจาย" ที่ว่า ในดีวีดีแผ่นหนึ่งมีหนังไทยอยู่ถึง 5-6 เรื่อง
เรื่องแรกคือ "บอดี้ / ศพ 19" ต่อด้วย "เพื่อน กูรักมึงว่ะ"
ผมนั่งดูไปก็ขำไป เพราะบางทีก็มีเงาหัวคนตัดผ่านหน้าจอ บางทีคนถ่ายเปลี่ยนมุมกล้องบ้าง(เพื่อหลบพนักงานในโรง)
ดูๆแล้วก็ไม่เข้าใจว่า "มันทำขายได้ไงวะ? + คนซื้อทนซื้อเข้าไปได้ไงวะ?" 5555
และสิ่งที่ทำให้พ่อผมหัวเสียก็คือ พอจบ 2 เรื่องนี้ไปแล้ว กำลังจะขึ้นเรื่อง "สายลับจับบ้านเล็ก" พอรันไตเติ้ลไปได้สักพัก มันก็จะวกกลับไปเรื่อง "บอดี้ฯ" แล้วต่อด้วย "เพื่อนฯ" ทุกครั้งไป
พ่อผมบ่นอุบ "สรุปแล้ว จริงๆมันดูได้แค่ 2 เรื่องใช่มั้ยเนี่ย! โคตรโกหกเลย"
 
โดยส่วนตัวผมเองแล้ว เวลาผมซื้อพวกหนังนี่ ผมนิยมซื้อแต่ของแท้นะครับ ไม่นิยมซื้อ "ผี"
แต่พักหลังมานี้ ผมบริโภคหนังแผ่นน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้ลดลง และเข็ดกับบรรดาหนังค่ายลิขสิทธิที่เซ็นเซอร์หนังจนน่ารำคาญ (ประเด็นนี้ต้องโทษพวกผู้ใหญ่ที่อยู่ ก.วัฒนธรรมด้วย อยากมีผลงาน แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย ประเภทมีแบ่งเรทอายุ แต่ก็ยังเซ็นเซอร์อยู่ ประเทศไหนเค้าทำกันฟะ??)
 
พ่อผมเคยตั้งสมมติฐานบางอย่างเกี่ยวกับ "วงการผี" เอาไว้ (โปรดใช้วิจารณญาณของท่านเองนะครับ แลบลิ้น 5555)
ว่า "บางทีพวกตัวใหญ่ๆที่อยู่เบื้องหลังวงการ ‘ผี’ เผลอๆมันก็เป็นพวกนายทุนหนังด้วยกันเองนี่แหละ มันเป็นวิธีอย่างหนึ่งในการอำพราง และหมกเม็ดรายได้ส่วนแบ่ง ฯลฯ"
อีกเรื่องที่พ่อผมว่าก็คือ
"พวกนายทุนที่ปั๊ม’ผี’ นี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทยหรอก เป็นคนจีนบ้าง คนประเทศใกล้บ้านบ้าง มีทุนสัก 3-4 ล้าน ก็ซื้อเครื่องมาปั๊มขายกันเป็นระวิง ฯลฯ"
บลา บลา บลา ก็ว่ากันไป
 
อย่างวงการหนังเทศ ฮอลลีวูดมันรวยจนไม่รู้จะรวยยังไงแล้ว ผมก็ไม่ค่อยห่วงสักเท่าไร
แต่วงการหนังไทยน่ะสิ ออกจะน่าเป็นห่วง รายได่ส่วนหนึ่งที่ควรจะได้ มันหายไปเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้
 
แต่ผมว่าวงการหนังก็ยังโชคดีอยู่บ้าง
เพราะอรรถรสและเสน่ห์จากการดูหนังในโรง ยังมีแรงดึงดูดให้คนยอมควักเงินซื้อตั๋วเข้าไปชม
ที่สำคัญข้อเสียของ ‘ผีไทย’ จากที่กล่าวมาข้างต้น  ทั้งภาพ/เสียงไม่ชัด, มีเงาหัวโผล่ให้เห็นเป็นระยะๆ ฯลฯ
ทำให้คนดูส่วนหนึ่งยอมลงทุนซื้อหรือเช่าแผ่นลิขสิทธิ์ (= รายได้ 2 ทางจากการขายสิทธิให้ผู้จำหน่ายซีดี และผู้ให้เช่าซีดี)
รายได้นอกโรงหนังจึงยังไม่สูญไปเสียทีเดียว
นอกจากนี้ ถ้าหนังเรื่องไหนทำได้โดนใจคนดู แฟนๆก็ต้องอยากซื้อซีดีหนังเรื่องนั้นๆมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือซื้อเป็นของขวัญให้เพื่อนๆ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ
 
แต่ที่โชคร้ายจริงๆก็คือ “วงการเพลง” ซึ่งทุกวันนี้สายเกินแก้แล้ว
อย่างที่เรารู้ๆกัน “ยำกระจายเพลง (MP3)” น่ะ ทั้งหาซื้อ, แจกจ่าย และทำเองได้ไม่ยากเลย

เดี๋ยวนี้คุณไม่ต้องไปถึงพันธุ์ทิพย์หรอก แค่มีเน็ตไวๆ ก็เข้าไปโหลดกันได้สบาย บิททอร์เรนท์ โหลดโลด!
นอกจากนี้การไรท์แผ่นก็ทำกันได้ง่ายๆแถมไวอีกต่างหาก แค่คุณมีคอมพิวเตอร์และโปรแกรม “Nero” ก็เป็นอากู๋อาเฮียของผองเพื่อนได้แล้ว
 
เปรียบเทียบระหว่าง “ผีเพลง” กับ “ผีหนัง”
ทางด้าน “ผีเพลง” ดูจะแผลงฤทธิ์แรงกว่า
เพราะทางมุมแดง “ผีหนัง” (ค่าย ส.แพนด้า) เวลายำกระจายหนังลงแผ่นดีวีดี อย่างมากก็ไม่น่าจะเกิน 5-6 เรื่อง
แต่ทางมุมน้ำเงิน “ผีเพลง” (ค่าย ส.แวมไพร์) นี่สิ เวลาเค้ายำกระจายที เค้ายำกันได้เป็นร้อยๆเพลง เป็นสิบๆศิลปิน

ในแง่ความคุ้มค่าของผู้บริโภค มันคุ้มแสนคุ้ม   ลองคิดดูในราคา 100 บาท ถ้าให้เลือกระหว่าง
“คุณซื้อแผ่นแท้ได้ 10 เพลง” กับ “ซื้อแผ่นผีได้ 100 เพลง++”   คุณๆจะเลือกซื้อแบบไหน?
ที่สำคัญคุณภาพของ “ผีเพลง” น่ะ ถ้าผู้บริโภคไม่ได้มีรสนิยมจัด หรือไม่ได้มีหูสุนทรีย์จริงๆ ผู้บริโภคหลายๆคนแทบจะแยกความแตกต่างระหว่าง “แผ่นจริง” กับ “แผ่นผี” ไม่ออกด้วยซ้ำ

 

     เมื่อก่อนเวลาคนฟังซื้อเพลงทีซื้อเป็นอัลบั้ม ได้ฟังทุกๆเพลงของศิลปิน ได้เก็บรายละเอียดทั้งตัวเพลง, ทำนอง, เนื้อร้อง, ปก ฯลฯ   การทำยอดขายได้ 1 ล้านตลับถือเป็นมาตรฐานของศิลปินดังสมัยนั้น
     เดี๋ยวนี้คนหันมาเสพย์แผ่นผี   ใน 1 แผ่นได้เหมามาหลายค่ายหลายศิลปิน(คุ้มจริงๆ) แต่กลายเป็นว่าคนฟังได้ฟังแค่ซิงเกิ้ลดังๆของศิลปินเท่านั้น ไม่ได้ฟังเพลงทั้งอัลบั้มจริง   ศิลปินคนไหนทำยอดขายได้สักหมื่นชุดนี่ถือว่าผ่าน คนไหนทำยอดขายได้สักแสนก็ถือว่าโคตรเก่งแล้ว!
 
     ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกวัฒนธรรม “ผีเพลง” กลืนเข้าไปด้วย อย่างกรณีหนังแผ่นผมยังนิยมซื้อของจริงอยู่ แต่ซีดีเพลงนี่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้กินเงินจากกระเป๋าผมเลยสักบาท   ทั้งที่เมื่อสัก 3-4 ปีก่อนนี้ซึ่งเป็นยุคที่ซีดีพึ่งบูม และยังมีเทปคาสเซ็ทขายอย่างแพร่หลาย ผมยังนิยมซื้อเทปเพลงแท้ๆอยู่เลย (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเทปของศิลปินฝรั่ง ถ้าของไทยก็มักจะเป็นพวกค่ายเบเกอรี่) เพราะผมคิดว่าเวลาซื้อของแท้ เราได้อุดหนุนศิลปินที่เราชอบ, ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า, ได้ปกเทปสวยๆ และได้สุนทรียภาพในการฟังมากกว่า!
    
     แต่พอตั้งแต่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และเทคโนโลยีในการดาวน์โหลด/ก็อปปี้เพลงทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ
พฤติกรรมในการฟังของผมก็ค่อยๆเปลี่ยนไป พอได้เสพย์เพลงผ่านทางคอมพิวเตอร์บ่อยๆขึ้น มันก็กลายเป็นกิจวัตร และพัฒนาจนกลายมาเป็นสันดาน!! (และเดี๋ยวนี้คงไม่ใช่แค่ผมคนเดียวหรอกครับที่มีสันดานแบบนี้)   “โลยัลตี้” หรือความจงรักภักดีที่แฟนเพลงมีให้กับศิลปินเพลงสมัยนี้ มันเบาบางเจือจางเหลือเกิน
 
     ค่ายเพลงตกอยู่ในสภาวะเหมือน “คนจมน้ำคว้าฟาง” กล่าวคือปัจจุบัน ทางพวกค่ายเพลงเองก็ต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมในการทำธุรกิจเพื่อเอาตัวรอด เพราะเดี๋ยวนี้ยอดขายแผ่นเสียงมันช่างสาละวันเตี้ยลงๆ   ช่องทางรายได้ใหม่ๆทางไหนที่คว้าได้ ค่ายเพลงก็ต้องรีบกระเสือกกระสนคว้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ดาวน์โหลดเพลงริงโทน,  การจำหน่ายเพลงเป็นแพ็คเกจให้โอเปอเรเตอร์มือถือและอินเตอร์เน็ต และการรีดเก็บค่าลิขสิทธิ์คาราโอเกะ เป็นต้น  
     แถมเดี๋ยวนี้ศิลปินเพลงต้องขยันเดินสายออกคอนเสิร์ต, งานโชว์ตัว และอีเวนต์กันแบบถี่ยิบ หรือแม้แต่เล่นโฆษณาเล่นละครด้วย!   เพราะไอ้การจะหวังเงินค่าส่วนแบ่งจากซีดีอย่างเดียวก็คงจะไม่พอยาไส้ จนพวกเค้าเหล่านั้นอยู่ในสภาพ “เต้นกินรำกิน” อย่างที่คนโบราณว่าไว้ไม่มีผิด
 
     ความจริงถ้าบรรดาค่ายเพลงในไทยเคยคิดใส่ใจผู้บริโภคอย่างจริงจัง ก่อนที่มันจะสายเกินแก้แบบนี้ วงการเพลงของเราก็อาจจะไม่ย่ำแย่ถึงขั้นนี้ก็เป็นได้
 ค่ายใหญ่ 2 ค่ายที่เรารู้ๆกันดี ทำเพลงแบบตีหัวเข้าบ้าน ดูถูกคนฟังไทยมานานแล้ว   ทั้ง 2 ค่ายเลือกที่จะยืนบนฟองสบู่ สร้างวัฒนธรรมเพลงป็อบแบบบั๊บเบิ้ลกัม   ศิลปินเป็นเหมือนหุ่นเชิดของพวกโปรดิวเซอร์และค่ายเพลง, ดนตรีขาดความหลากหลาย ขาดมิติ, เนื้อเพลงก็ซ้ำซากจำเจ วนเวียนแต่เรื่องรักๆๆๆ (เลิฟ ไอนีดซัมบอดี้ เลิฟ ฮา 😉 ฯลฯ   รวมถึงการโปรโมทโดยใช้แผ่นตัดและเอ็มวี เน้นเพลงเด่นๆที่ขายได้ 2-3 เพลงจากทั้งชุด (ซึ่งบางอัลบั้มก็มีเพลงดีอยู่แค่ 2-3 เพลงนั้นจริงๆ!) มันก็อาจจะสมควรแล้วล่ะที่สมัยนี้ไอ้ 2-3 เพลงดังของคุณจะไปโผล่อยู่ใน “ยำกระจาย” ในเมื่อคุณปูทางเอาไว้แบบนั้น
 
     ตัวอย่างการสร้างวัฒนธรรมเพลงแบบผิดๆอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน ก็คือ “วงการดีเจ” นี่ล่ะครับ   ผมจำได้สมัยผมยังละอ่อน (ใบ้ให้ว่ายุค 90 เดี๋ยวคนอื่นๆรู้หมดว่าแก่ ฮา….) ทางคลื่นวิทยุยังมีคลื่นคุณภาพ และดีเจคุณภาพอยู่มาก ดีเจจากยุคนี้อาจจะไม่หล่อไม่สวย แต่เร้าใจและมีเสน่ห์เฉพาะตัวครับ!   ดีเจพวกนี้ไม่ได้เปิดเพลงตามใบสั่งอย่างเดียว และมีความรู้เรื่องเพลงกับศิลปินค่อนข้างมาก อาทิ คุณมาโนชย์, พี่บ็อบบี้-นิมิตร (ที่เดี๋ยวนี้หันไปเอาดีทางการแสดง ฮา..) และซ้อวาสนา (เรียกป้าเดี๋ยวมีเคือง) เป็นต้น   หรือแม้แต่รายการเพลงทางทีวีก็ยังพอมีที่เป็นทางเลือกบ้าง อย่างเช่น “บันเทิงคดี” ที่ไม่ได้เปิดเอ็มวีแบบผูกขาด ค่ายใครค่ายมันอย่างเดียว
 
      แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว   เดี๋ยวนี้วงการ “ดีเจ” (หรือวีเจ, พีเจ แล้วแต่ท่านเรียก)  มันเปลี่ยนไปแบบพิลึกกึกกือ  
กล่าวคือ “ดีเจสมัยนี้ส่วนใหญ่ต้องหล่อ ต้องหน้าตาดีครับ” เรียกว่าพอจัดรายการวิทยุเสร็จ ก็เดินสายไปจัดรายการทีวีต่อได้สบายๆ (ยกตัวอย่างเช่น “ดีเจของค่ายเพลงย่านอโศก” และ “ดีเจคลื่นดัง อสมท.”) เรื่องหน้าตาน่ะผ่านแน่ ส่วนเรื่องคุณภาพนี่ผมไม่ค่อยแน่ใจครับ  
     รูปแบบรายการก็มักจะเป็นการเปิดเพลงตามใบสั่งหรือตามอันดับเพลง   แล้วดีเจหน้าหล่อเหล่านี้ก็จะคุยเจ๊าะแจ๊ะขำๆ ปล่อยมุกไปเรื่อย   ความจริงผมเองก็ไม่ค่อยอินกับเค้าเท่าไรหรอกครับ แต่ลองนึกภาพว่าตัวเองเป็นสาว 15 เวลาฟังเพลงบนเอฟเอ็มไป ก็ต้องนึกถึงหน้าหล่อๆของพี่ดีเจไปด้วย (ชักทะแม่งๆ ฮา~)   ผมสงสัยว่าสมัยนี้เวลาจะมีการคัดเลือกดีเจกันขึ้นมาที คงจะต้องมีการประกวดเหมือนประกวดนางงาม หรือชายงามแน่ๆ (โดเรม่อนแมน ฮา…) ถ้าพวกพี่สะมะฯ, น้าเน็กซ์ ฯลฯ มาเกิดสมัยนี้ อาจจะไม่ได้เกิดในวงการดีเจก็เป็นได้ (ฮาๆๆๆ)
 
     แขวะค่ายใหญ่ไปเยอะแล้ว เดี๋ยวอากู๋อาเฮียจะเคืองเอา   คราวนี้เรามาพูดถึงค่ายเล็กและค่ายเพลงเทศบ้าง   สิ่งหนึ่งที่ขัดใจผมอย่างแรงก็คือเรื่อง “ราคา” นี่ล่ะ! ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมค่ายเพลงเหล่านี้ถึงได้ตั้งราคาซีดีของตัวเองให้มันแพงเสียจนคนซื้อไม่ลง   เมื่อก่อนตอนที่ยังมีเทปขาย ราคาตลับละ 100-120 บาท เรายินดีควักซื้อกันทีเดือนละ 5-6 ม้วน แค่นั้นขนหน้าแข้งไม่ร่วงหร๊อก!   แต่พอมีขายเฉพาะซีดี ราคาแผ่นละ 250-500 บาท ความรู้สึกมันต่างกันลิบลับเลย ผมรู้สึกว่า “ทำไมมันแพงจังวะ?”   รักศิลปินก็รักล่ะนะ แต่เก็บเงินไว้ซื้อข้าวปลาน่าจะดีกว่า

     ผมไม่เข้าใจเลยที่ค่ายเพลงเหล่านี้ไม่เคยคิดเรื่องการปรับราคาให้มันสมเหตุสมผล   กว่าจะยอมลดได้ก็ช้าไปแล้วต๋อย แถมยังลดแบบเหนียมๆ กล้าๆกลัวๆอีกต่างหาก (ไม่เหมือนพวกค่ายใหญ่ที่เดี๋ยวนี้ขายกันแผ่นละ 100-150 บาท) ค่ายเพลงเหล่านี้จึงเสียฐานลูกค้าระดับล่าง-กลางไปไม่น้อย และท่าจะเรียกคืนได้ยาก
     เหตุผลที่ค่ายเพลงเหล่านี้น่าจะใช้อ้างก็คือ “ต้นทุนผลิตสูง” / “ค่าลิขสิทธิ์สูง”  
แต่ผมว่ามันฟังไม่ขึ้นเท่าไร โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีคอมกันแทบทุกบ้าน เวลาเราไรท์ซีดีแผ่นหนึ่งต้นทุนไม่เกิน 20 บาท(ต้นทุนมันน่าจะถูกกว่าเวลาอัดเทปด้วยซ้ำ! ทั้งเงินและเวลา) หรือถ้าไปตามแผงลอย แผ่นปั๊มผีราคาถูกกว่า 50 บาทก็มียังมีขาย   สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า “ทำไมแผ่นแท้ถึงได้(โคตร)แพงจัง!”   ไอ้ครั้นจะอ้างเรื่องค่าลิขสิทธิ์ แล้วทำไมสมัยก่อนราคาเทปยังแค่ตลับละ 100 บาท

     ในความรู้สึกของผู้บริโภคที่เป็นคนทำงานเงินเดือนหมื่น หรือนักเรียนที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง  
100-200 บาทมันจิ๊บๆครับ เหมือนเวลาเราไปจ่ายเพื่อดูหนังหรือกินข้าวมื้อพิเศษ  
แต่พอเปลี่ยนจาก 100-200 มาเป็น 300-400 ความรู้สึกมันผิดกัน ความยับยั้งชั่งใจในการใช้เงินมีมากขึ้น   และผมว่าปัจจัยความรู้สึกตรงนี้มันส่งผลกระทบกับยอดขายซีดีเพลงค่ายเล็ก/เพลงเทศอย่างมหาศาล สมมติจากที่ควรจะขายได้ 10,000 ก็อปปี้ อาจจะกลายมาเป็นเหลือแค่ 1,000 ก็อปปี้ ก็เป็นได้
     ผมยังได้ลองเปรียบเทียบราคาซีดีเพลงฝรั่งกับทางต่างประเทศด้วย   ทั้งๆที่ค่าครองชีพไม่เท่ากัน แต่ซีดีเพลงฝรั่งในบ้านเรามีราคาสูงพอๆกับซีดีที่ขายในเมืองนอกเลยนะครับเจ้านาย!   อย่างซีดีที่อเมริกา เค้าขายกันตกแผ่นละ 20 ดอลลาร์ (ประมาณ 600 บาท)  ที่อังกฤษ เค้าขายกันตกแผ่นละ 10 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาทเหมือนกัน)   ถ้าเอามาเทียบกับรายได้ขั้นปกติ ก็จะเท่ากับรายได้สักครึ่งวัน   แต่ของพี่ไทยนี่ ซีดีเพลงแผ่นละ 300-500 บาท คิดแล้วเท่ากับรายได้ทั้งวันของคนเงินเดือน 1 หมื่นบาทเลยนะครับ!

 

     แต่คิดๆแล้วก็น่าสงสาร และน่าเสียดายนะครับ พวกค่ายเพลงไทยยักษ์ใหญ่ยังพอเอาตัวรอดได้จากการสร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ   แต่ค่ายเล็กนี่สิค่อยๆตายกันไปทีละค่ายสองค่าย รวมถึงค่ายเพลงเทศด้วย ใครเลยจะคิดว่าค่ายเพลงอย่าง “อีเอ็มไอ” ต้องเลิกการขายซีดีในตลาดประเทศไทย   ยังไม่นับรวมร้านขายเพลงดีๆอย่าง ทาวเวอร์เร็คคอร์ด หรือ ซีดีแวร์เฮาส์ ที่ทยอยปิดตัวไปทีละเจ้า
 
 
 ใครเลยจะคิดว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเร็วเช่นนี้? เพราะเทคโนโลยีตัวเดียวแท้ๆ!  
เทคโนโลยีนำไปสู่การพัฒนาและความสะดวก   แต่ขณะเดียวกัน ในการเกิดใหม่ที่ว่านี้ก็มีการดับและการตกยุคตามมาด้วยเสมอ  
จาก ‘วีดีโอ’ มาเป็น ‘ซีดี/ดีวีดี’, 
จาก ‘แผ่นเสียง’ มาเป็น ‘เทป’ มาเป็น ‘ซีดี’ มาเป็น ‘เอ็มพี3 และไอพ็อด’ฯลฯ

(จาก “Video killed the Radio Star” มาเป็น “ยำกระจาย killed  บี้ เดอะสตาร์”   ฮา……..) 
เรายังไม่รู้ว่าการพัฒนาจะไปจบสิ้นที่ตรงไหน
และผมรู้สึกว่าการไล่ตามเทคโนโลยีนั้นมันช่างเหนื่อยเหลือเกิน เราไล่ตามเท่าไร ก็ไล่ไม่ทันหรอก!
 
     บางครั้งผมรู้สึกแย่นะ กับการตกเป็นทาสวัฒนธรรมบริโภคนิยม “แดกด่วน” (Fast Food) แบบนี้   ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้เรามีสื่อบันเทิงมาให้เสพย์เยอะขึ้น, ง่ายขึ้น,  ถูกขึ้น   แต่ในทางกลับกัน อรรถรส, สุนทรียภาพ, ความประทับใจ, ความลึกซึ้งที่เราได้รับมันน้อยลง   (ไม่ต่างกับการดูหนังโป๊ ที่ดูเพื่อสนองตัณหาความใคร่เดี๋ยวนั้น ดูเพื่อเอาซี๊ด ดูเพื่อให้กระสัน)  
     ที่สำคัญมันทำให้เราเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าอะไรก็ถูกอะไรก็ฟรีไปหมด   เส้นแบ่งของสำนึกระหว่างถูก-ผิดสั่นคลอน   เมื่อผู้บริโภคเห็นดำเป็นขาว คิดว่าการซื้อ “ผี” เป็นเรื่องปกติ และบิททอร์เรนท์เป็นเรื่องชอบธรรม เป็นต้น   พฤติกรรมดังกล่าวผิดกฎหมายในทางนิตินัย แต่ในแง่พฤตินัย ยากที่ใครจะมาเอาผิดกับเราได้ นั่นก็เหมือนกับว่า “กฎหมายไม่ขลังจริง” หรือ “คุณอยู่เหนือกฎหมาย” กลายๆ   สิ่งเหล่านี้เป็นการปลูกฝังแนวคิดที่ผิดๆให้กับพวกเราเองในทางอ้อม!
 
 ณ ปรโลก ดินแดนที่กั้นกลางระหว่าง “สวรรคภูมิ” และ “นรกภูมิ”
 ‘จ๊อด’ วิญญาณหัวแถว ก่อนตายเป็นคนขายซีดีเถื่อน ความชั่วไม่มี(น้อย) ความดีไม่ปรากฏ(เยอะ)

“แต๊ว แด๊ว” ท่านเทพเอลวิสดีดกีตาร์เป็นทำนองร็อคแอนด์โรล 2 ที
ก่อนจะเอ่ยปากถามวิญญาณรายใหม่
“จ๊อด อนาคตวงการเพลงไทยอยู่ในมือแกแล้ว แกเลือกเอาระหว่าง ‘แผ่นแท้’ กับ ‘แผ่นผี’ ”
ด้วยสันดานและสัญชาตญาณคนปั๊มเพลงผี จ๊อดตอบไปโดยไม่ยั้งคิด
“แผ่นผี ยำกระจายๆๆๆๆๆๆๆๆๆ”

 

“ไป๊ ไป ไปลงนรกเสียเถิดที่รัก ชั้นจะลงโทษเธอ”
ท่านเทพเอลวิสครวญเพลงส่งวิญญาณไอ้จ๊อดพร้อมสับคอร์ดกีตาร์รัวแบบฮาร์ดคอร์
 
“ไอ วิล เซอร์ไวว์,  ไอ วิล เซอร์ไวว์ เฮ… เฮ…” จ๊อดแหกปากร้องครวญครางขณะร่วงหล่นสู่นรกภูมิ
ทิ้งแผ่นยำกระจายและแวมไพร์เร็คคอร์ดไว้เป็นอนุสรณ์แด่ชาวโลก
 
เอวัง…………….

หนึ่งการตอบรับ

  1. Piyachai

    เรื่องนี้น่าคิดทีเดียวครับ ส่วนตัวผมซื้อหนังแผ่นแท้เฉพาะเรื่องที่โดนใจมากๆจริงๆ จนอยากเก็บเอาไว้ดูอีก (ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ที่ซื้อมา จะทิ้งไว้ในตู้ก็ตามที แต่เวลาที่อยากดูเราสามารถหยิบมาดูได้เลย) แต่หนังประเภทนี้โดยเฉพาะหนังไทยมีน้อยมากๆๆๆๆๆ (สำหรับผมหนังฝรั่งก็มีไม่เยอะที่ถูกใจจิงๆ) จึงทำให้การโหลดบิทเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ก็มีข้อเสีย มันทำให้เราเป็นคนเบื่อง่าย ไม่มีความอดทน ยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบไม่ได้ … เพราะหนังที่โหลดมาก็ดูไร้ค่าจิงๆอ่ะพี่ ดูเสร็จถ้าชอบก็ไรท์เก็บ ไม่ชอบก็ลบไป … คิดแล้วก็รู้สึกแย่ เพราะผมเองก็โหลด(อยู่บ่อยๆ) ถึงแม้เราจะคิดว่าการซูมหนังจากในโรงเป็นเรื่องที่ชั่วร้าย ไม่น่าทำ และผิดกฎหมาย แต่เราก็มาบริโภคมัน คิดไปแล้วเราก็ไม่ต่างจากคนเสพยาอ่ะแหละ (ถึงไม่ได้หามา ไม่ได้ขาย แต่ก็ซื้อ) ….. ชั่วจิงๆกรู

    มกราคม 11, 2008 เวลา 4:54 pm

ส่งความเห็นที่ Piyachai ยกเลิกการตอบ